กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--คณะกรรมการโอลิมปิก 2000
การประชุมเสวนาในหัวข้อ "กทม.โชว์ศักยภาพรับมือโอลิมปิค 2008" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค.43 ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ "bangkokgames 2008" ชั้น 7 ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ร.ต.ต.เกียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัด กทม. เผยว่า กทม.พร้อมมีความแล้วในทุก ๆ ด้าน ที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 2551 โดยกล่าวว่า
"กรุงเทพมหานครของเราเป็นเป็นเมืองหลวงที่ไม่เหมือนเมืองหลวงของประเทศใดในโลก ไม่ว่าจะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่าง , ระบบคมนาคมขนส่ง , สถานที่รองรับนักท่องเที่ยวต่าง ๆ , บรรยายกาศของความเป็นเมืองหลวงที่สอดคล้องและผสมผสานไปกับภาพของการเป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมที่สวยงามของคนไทย เช่น ความมีอัธยาศัยไมตรี การยิ้มต้อนรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งแหล่งช๊อปปิ้งของเราก็มีมากมายไม่เป็นรองที่ใดในโลก"
นอกจากนี้ ท่านรองปลัด กทม ยังกล่าวต่ออีกว่า ในการแข่งขันกีฬารายการสำคัญต่าง ๆ นอกจากในเรื่องความพร้อมของสนามแข่งขันแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ความพร้อมของสถานที่ต่าง ๆ ที่จะรองรับ กองเชียร์จำนวนมหาศาลของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งในส่วนนี้ กทม.ค่อนข้างจะได้เปรียบเมืองต่าง ๆ ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เนื่องจากในระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า กทม.มีศักยภาพอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดีเยี่ยมได้
ส่วน คุณวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงแผนระยะยาวในการการท่องเที่ยวของ กทม. ในระยะ 8 ปีข้างหน้าว่า ปัจจุบัน กทม.อยู่ในระหว่างการดำเนินการร่างแผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 6 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 - 2549 ซึ่งในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ทางกทม.ได้จัดทำ "แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมการต้อนรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ปี ค.ศ.2008" ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่จะเสร็จสิ้นทันการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่มีการระบุให้มีการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจของพื้นที่กรุงเทพ ฯ และปริมณฑลให้มีความสมบูรณ์และสมดุลทั้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเกษตร , การท่องเที่ยว และการบริการ ฯลฯ
โดยทางกทม.ได้จัดเตรียมให้มีโครงการต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนแผนระยะยาวดังกล่าวกว่า 50 โครงการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทหลักได้ 5 ประเภทคือ โครงการพัฒนาด้านกายภาพ , โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนองการท่องเที่ยว , โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว , โครงการส่งเสริมความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และโครงการบริการการท่องเที่ยว ตัวอย่างโครงการหลักที่น่าสนใจ และรองรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ก็คือ โครงการปรับปรุงถนนสายหลักเพื่อเชื่อมต่อสนามแข่งขันและเขตปริมณฑล , โครงการพัฒนาภูมิทัศน์ของเมืองรอบสนามกีฬา , โครงการอบรมอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยว , โครงการพัฒนาฟื้นฟูตลาดน้ำที่มีอยู่แล้ว , โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ , โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม , โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางคลอง , โครงการป้องกันการหลอกลวงนักท่องเที่ยว , โครงการคุ้มครองความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางบกและน้ำ , โครงการจัดบริการนำชมแหล่งท่องเที่ยวทางเรือ , โครงการซุ้มประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว , โครงการสารสนเทศแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโครงการที่สอดคล้องและรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคได้อย่างดี
หลังจากนั้นท่านรองผอ.สำนักนโยบายและแผน ฯ ยังได้กล่าวต่อว่า ถ้า กทม.ได้ผ่านการคัดเลือกในรอบเลือกในวันที่ 29 สิงหาคมนี้แล้ว การชูนโนบายการท่องเที่ยวของ กทม. จะเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้คณะกรรมการ ไอโอซี. ตัดสินใจคัดเลือกให้กรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในปี 2008
"ท่านผู้ว่าคนใหม่เองท่านก็เคยบอกว่าท่านเคยเป็นมัคคุเทกศ์มาก่อน ดังนั้นท่านคงจะมีนโยบายด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ แนวคิดในการสร้างหอคอยชมวิวของกทม.เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงโดยเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนแทน กทม. ซึ่ง กทม.เองมีความพร้อมและสามารถหาเอกชนเข้ามาลงทุนได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นนโยบายการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงอนุรักษ์ เช่น การท่องเที่ยวทางน้ำ และการสร้างถนนใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับเขตปริมณฑล โดยให้สอดคล้องกับศูนย์กีฬาทั้ง 4 แหล่ง เป็นสิ่งที่ กทม.เองมีความตั้งใจจะทำอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายได้มอบอำนาจให้ทาง กทม.สามารถบริหารงานและดำเนินโยบายทางด้านการท่องเที่ยวได้อย่างอิสระอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อ ททท. ทำให้กทม.สามารถดำเนินนโยบายการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคเกมส์ได้เป็นอย่างดี"--จบ--
-สส-