กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
เตือน.! ระวัง "เห็ดพิษ" กินผิดมีฤทธิ์ถึงตาย เผยข้อมูลสถานการณ์ พบผู้ป่วยแล้ว 62 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ตามลำดับ "นครพนม" ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ "นายแพทย์ประภาส วีระพล" แนะวิธีการบริโภคเห็ด และวิธีหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดที่มีพิษ ย้ำหลักการปฐมพยาบาลหลังรับประทานเห็ดพิษที่สำคัญที่สุด เบื้องต้นต้องทำให้อาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกให้มากที่สุด
ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนที่มีพื้นดินชุ่มน้ำ ใต้โคนต้นไม้จะมีเห็ดป่าออกมาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านนิยมไปเก็บมารับประทาน และเก็บมาขายกันจำนวนมาก จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์คนจำนวน ไม่น้อยเก็บเห็ดที่มีพิษมารับประทาน ทำให้เกิดอาการป่วย มากไปกว่านั้นบางรายรับประทานเห็ดที่มีพิษร้ายแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้
ข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 62 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา คือ 10 - 14 ปี และ 35 - 44 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่ที่พบ คือ ไม่ทราบอาชีพ ร้อยละ 38.7 นักเรียน ร้อยละ 22.6 รับจ้างร้อยละ 19.4 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พังงา กระบี่ เลย อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ตามลำดับ สำหรับจังหวัดนครพนม ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ
นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคเห็ดโดยทั่วไปว่า ให้รับประทานแต่พอควร เนื่องจากเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก การปรุงอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ต้องระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออก ไม่รับประทานเห็ดที่ปรุง สุก ๆ ดิบ ๆ หรือเห็ดดิบดอง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดให้รับประทานเฉพาะเห็ดชนิดที่ไม่แพ้ ไม่รับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที เนื่องจากสุราช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะเห็ดเป็นพิษ บ่อยครั้งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเป็นเห็ดชนิดที่ไม่มีพิษ เนื่องจากการดูรูปร่างผิดไป นอกจากการบ่งชี้ ชนิดของเห็ดโดยรูปร่างภายนอกแล้วต้องอาศัยวิธีตรวจ Spore print หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ด้วย
อาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษ มักเริ่มจากอาเจียน ท้องเสีย จากนั้นจะมีอาการตามชนิดของพิษเห็ด เช่น อาการคล้ายคนเมาเหล้า ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย ชัก หมดสติ บางรายตับวาย ไตวาย ขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำและอาจเสียชีวิต มีข้อสังเกตว่าระยะหลัง พบผู้ป่วยมีอาการตับวายเสียชีวิตจากเห็ดพิษบ่อยขึ้น มักมีอาการหลังจากกินเห็ดเข้าไปแล้วเกิน 6 ชั่วโมง และเริ่มมีอาการตับวายรุนแรงหลังกินเห็ดไปแล้ว 2-3วัน การให้ยาต้านพิษจึงไม่ทัน
"วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดที่มีพิษโดยดูลักษณะภายนอก ได้แก่ เห็ดที่เป็นสีน้ำตาลมีหมวก เห็ดสีขาว มีปลอกหุ้มโคน มีวงแหวนใต้หมวก โคนอวบใหญ่มีปุ่มปม หมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา รวมถึงเห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า (บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง) เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาวและเห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ นอกจากนี้การเก็บเห็ดป่ารับประทานเอง ต้องมั่นใจว่ารู้จักเห็ดแต่ละชนิดจริง และเก็บเห็ดให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึก เพราะหากเด็ดแต่ ด้านบนแล้ว ลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะซึ่งอยู่ติดกับดิน ที่ใช้บ่งบอกชนิดของเห็ดพิษร้าย จะไม่ติดขึ้นมาด้วย ทำให้จำแนกชนิดผิดพลาดได้ ควรเก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์ หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไป เห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อยเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้น โดยนำกระดาษรองในตะกร้า เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ไม่เก็บเห็ดหลังพายุฝนใหม่ ๆ เนื่องจากสีบนหมวกเห็ดพิษบางชนิดอาจถูกชะล้างให้จางลงได้ เมื่อเก็บเห็ดแล้วให้นำมาปรุง อาหารทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็ว ห้ามกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด เห็ดที่ไม่เคยกิน ควรกินแต่เพียงเล็กน้อยในครั้งแรก ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟหรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษต่าง ๆ รวมถึงโลหะหนักสะสมไว้ในตัวด้วย"
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การป้องกันอันตรายจากเห็ดพิษ ทำได้โดยการรู้จักและจดจำเห็ดพิษที่สำคัญ ซึ่งมีพิษรุนแรงถึงตาย หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดพิษ ดังนี้ เห็ดระโงกพิษ ชื่อตามภาษาท้องถิ่น คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงากและเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งรูปร่างทั่วไปคล้ายกับเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกที่รับประทานได้ขอบหมวกมักจะเป็นริ้วคล้ายรอยหวี มีกลิ่นหอมและก้านดอกกลวง ส่วนเห็ดระโงกที่เป็นพิษ กลางดอกหมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะปลอกหุ้มโคนจะยึดติดกับก้านดอก ก้านดอกตัน หรือเป็นรูปที่ไส้กลางเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรงเมื่อดอกแก่ มักเกิดแยกจากกลุ่มเห็ดที่รับประทานได้ มีทั้งแบบดอกสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเทาอ่อนและสีขาว ส่วนเห็ดพิษชนิดอื่นที่พิษ ไม่รุนแรงถึงตาย ซึ่งมีอยู่แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน เช่น เห็ดพิษท้องถิ่นทางอีสานเรียกว่า เห็ดเพิ่งข้าวก่ำ เห็ดคันจ้อง หรือเห็ดเซียงร่ม และเห็ดหมากหม่าย (คล้ายเห็ดโคน) เป็นต้น ไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ หากจำเป็นต้องรับประทาน ควรชิมเพียงเล็กน้อย หรือรับประทานแต่เห็ดที่คุ้นเคยและไม่เกิดอันตรายเท่านั้น
"การปฐมพยาบาลหลังรับประทานเห็ดพิษที่สำคัญที่สุด เบื้องต้นต้องทำให้อาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกให้มากที่สุด หากอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และหลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านพร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ" นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว