กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
"นายแพทย์ประภาส วีระพล" เตือนภัยสุขภาพ เข้าสู่หน้าฝนสภาพอากาศชื้นสูง เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แนะระวังการเจ็บป่วย 5 กลุ่มโรค ทั้งติดเชื้อทางระบบหายใจ โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ มือ เท้า ปากและโรคเลปโตสไปโรสิส รวมถึงฟ้าผ่าและภัยจากอุบัติทางถนน เผยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของ สสจ.นครพนม โรคข้างต้นที่พบมากเป็นอันดับ 1 คือ ปอดบวมรองลงมา คือ โรคไข้หวัดใหญ่ แนะป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ทายากันยุงหรือใช้สมุนไพรไล่ยุง ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ
นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศจะมีความชื้นสูงและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เป็นสาเหตุเกิดโรคหลายชนิดและสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วย ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ที่ควรเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1) โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 2) โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3) โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอหิวาตกโรคและโรคไวรัสตับอักเสบ เอ 4) โรคติดต่ออื่นๆ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปากและโรคเลปโตสไปโรสิส และ 5) ภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และภัยจากอุบัติเหตุทางถนน
"ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ต้นปี 2559 โรคข้างต้นที่พบมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ โรคปอดบวม พบผู้ป่วย 664 ราย รองลงมา คือ โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 297 ราย โรคมือ เท้า ปาก พบผู้ป่วย 103 และโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 92 ราย ไม่พบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และมักมีการระบาดในช่วงหน้าฝน ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ โดยดังนี้ 1.การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด รวมถึงนอนในมุ้ง ทายากันยุงหรือใช้สมุนไพรไล่ยุง รวมถึงการป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ (เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว