กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งแจ้งเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีน หวังเพิ่มมูลค่าการค้าและเป็นต้นแบบให้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วชูจุดเด่นทำเลที่ตั้งของจังหวัดที่มีศักยภาพความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้จังหวัดสระแก้วเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าสู่ตลาดอินโดจีน
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา 'การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว'ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นพัฒนาจังหวัดที่มีชายแดนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใน 6จังหวัด ซึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีพื้นที่ครอบคลุม4ตำบล 2อำเภอ รวมพื้นที่ 207,500 ไร่ ถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่ภาครัฐมุ่งหวังให้เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจังหวัดสระแก้วมีศักยภาพในการเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปสู่ตลาดอินโดจีนได้
รัฐบาลจึงมีเป้าหมายผลักดันให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เป็นโมเดลเพื่อดึงนักลงทุนจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOIจึงให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีแก่กิจการเป้าหมายสำหรับการลงทุน ได้แก่ กิจการแปรรูปสินค้าเกษตร กิจการสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมา จังหวัดสระแก้วมีมูลค่าการค้าเพิ่มเป็น 82,000 ล้านบาทและเชื่อว่านับจากนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นต่อเนื่องได้ทุกปี
"เราได้จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดให้มีความพร้อมรองรับเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว พร้อมมอบสิทธิพิเศษทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนและเปิดให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จในการนำเข้าส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน ช่วยให้ผู้ส่งออกได้รับความสะดวกและเพิ่มมูลค่าการการค้าตามชายแดนให้สูงขึ้น" รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วถือว่ามีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของจังหวัดที่อยู่ใกล้ด้านชายแดนอรัญประเทศซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเตย ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นจุดผ่านแดนที่มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาสูงที่สุดของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทางเพียง 250กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพฯ 260กิโลเมตร จึงทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีศักยภาพที่ดีและเอื้อต่อภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนเพื่อใช้เป็นประตูส่งออกสู่ตลาดอินโดจีนรวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดสระแก้ว ได้เตรียมความพร้อมรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างถนนจำนวน 5สาย การคมนาคมทางรางที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟแก่งคอย-คลองสิบเก้า สิ้นสุดสะพานคลองลึก นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีแผนสร้างสถานีไฟฟ้าเพิ่มอีก 1สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2563และการประปาส่วนภูมิภาคมีแผนพัฒนาระบบประปา กำลังการผลิต 19,200 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีปริมาณการผลิตที่เพียงพอใช้ได้ถึงปี2561 ก่อนขยายกำลังการผลิตประปาเพิ่มเติมเป็น 43,200 ลบ.ม./วัน ในอนาคต
นอกจากนี้ สระแก้วยังเปิดให้บริการด่านศุลกากรแห่งใหม่ พื้นที่กว่า 525ไร่ ในอำเภออรัญประเทศและยังได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่พื้นที่กว่า 660ไร่ ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOIเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานต่างๆ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนและการจัดสินเชื่อเพื่อการลงทุนในการสนับสนุนภาคเอกชนข้าลงทุนในนิคมอุตสหากรรมแห่งใหม่นี้อีกด้วย
"การเตรียมความพร้อมดังกล่าวนั้น เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งไทยถือว่ามีความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนและสร้างรายได้ตลอดจนคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่นที่จะดีขึ้นต่อไป" นายภัครธรณ์ กล่าว