กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หอการค้าไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2559 มีโอกาสขยายตัว
อยู่ที่ระดับ 3.2-3.5% โดยที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะขยายตัวที่ระดับ 3.3% การส่งออกสินค้าครึ่งปีหลัง จะอยู่ที่ระดับ 2.6% ส่งออกตลอดทั้งปีมีโอกาสขยายตัวประมาณ 0.8% อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง จะอยู่ที่ระดับ 0.9% เงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.4%
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ถ้าขยายตัวดีขึ้นจะทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นรูปธรรม ก็จะมีส่วนในการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวตามไปด้วย
สำหรับปัจจัยบวกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ประกอบด้วย มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มมีผลต่อการบริโภค / การลงทุนของภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเริ่มที่จะมีสัญญาณของการฟื้นตัว รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ และงบรายจ่ายลงทุนการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำใกล้เคียง 1.50% มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ส่วนปัจจัยลบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย ปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีผลทำให้กำลังการซื้อของเกษตรกรหดหายไป สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับตัวเลข NPLs สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) และแบนสินค้าประมงสินค้าชั่วคราว (IUU) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจ โดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประทศ และลดการนำเข้า
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลก ซึ่งจากรายงานประจำเดือนมิถุนายนของสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency หรือ IEA) คาดว่า ตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งถือเป็นการกลับมาที่จุดสมดุล หลังอุปทานมากกว่าอุปสงค์อยู่เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง จากภาวะขัดข้องด้านการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และนอกกลุ่ม OPEC ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น จะส่งผลให้สถานการณ์รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้น อาทิ ราคาข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผลทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การค้าชายแดนยังคงเป็นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งมีสัดส่วน 81.95% ของมูลการค้าระหว่างไทย – เมียนมา ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 214,694.38 ล้านบาท โดยเมียนมามีมูลค่าการค้ากับทั่วโลก 783,720 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการค้าทั้งหมดกับไทย มีเพียง 261,975.13 ล้านบาท คิดเป็น 33.4% เท่านั้นดังนั้น ไทยยังมีโอกาสในการค้ากับเมียนมาอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การมาเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี ในระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายนนี้ หอการค้าไทยเห็นว่า น่าจะมีแนวทางร่วมมือด้านต่าง ๆ และจะมีลู่ทางในการขยายการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยหอการค้าไทยเสนอประเด็นในการผลักดัน ดังนี้
1. ผลักดันการยกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษสิงขร และจุดผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาการค้าชายแดนให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในปี 2558 จุดผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ มีมูลค่าการค้าประมาณ3 พันล้านบาท และจุดผ่อนปรนพิเศษมะริด-สิงขร ประเทศไทย มีการนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่า 60.4 ล้านบาทและส่งออก 99 ล้านบาท2. เรื่องการทำ Visa On Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทย ซึ่งปัจจุบันไทยและเมียนมา ได้มีการยกเลิกการตรวจลงตราวีซ่าระหว่างกันเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ ทางอากาศเท่านั้น ไทยและเมียนมายังไม่สามารถทำการตรวจลงตรา VOA ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความมั่นคงประโยชน์ที่จะได้รับจากการผลักดันให้มีการทำ VOA ณ ด่านชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจที่อยู่เมืองชายแดนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางติดต่อทำการค้ากันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะชาวเมียนมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำวีซ่าถึงเมืองย่างกุ้ง และชาวเมียนมาที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล และท่องเที่ยวในเมืองชั้นใน ของฝั่งไทย อาทิ พิษณุโลก และสุโขทัยและ 3. ยังผลักดันเรื่องการขอขยายเวลาการใช้ Border Pass ซึ่งปัจจุบันชาวเมียนมาสามารถใช้ Border Pass เข้ามาในฝั่งไทยโดยเฉพาะอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เพียงแค่ 1 วัน หรือ มาเช้า-เย็นกลับ เท่านั้น จึงเสนอให้ผลักดันการขยายเวลาการใช้ Border Pass เข้า-ออกไทยสำหรับชาวเมียนมาเพิ่มจากเดิมเป็น 7 วัน โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการขยายเวลาการใช้ Border Pass ดังกล่าวจะทำให้ชาวเมียนมาสามารถมีเวลาเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อสินค้าในฝั่งแม่สอดได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การค้าชายแดนในส่วนของ
ด่านแม่สอด-เมียวดี มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement on Employment) ระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกของทั้งสองฝ่าย และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน