กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
สพฉ. จัดอบรมการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้กับพนักงานบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียง หลัง บมจ.ล็อกซเล่ย์ เล็งเห็นความสำคัญ ติดตั้งเครื่อง AED ภายในบริษัท และชุมชนใกล้เคียง หวังลดการสูญเสียของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ขณะที่ เลขา สพฉ. แนะเจ้าของอาคารสถานที่อื่นๆ ติดตั้งเครื่อง AED เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดฝึกอบรมการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED)ให้กับพนักงานล็อกซเล่ย์ และตัวแทนผู้อยู่อาศัยในชุมชนปีนัง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ บมจ.ล็อกซเล่ย์ เล็งเห็นความสำคัญของเครื่อง AED และได้จัดซื้อเพื่อติดตั้งภายในบริษัท 1 เครื่อง และชุมชนปีนัง ซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียงอีก 1 เครื่อง
โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีจำนวนมากพอๆ กับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรเรียนรู้วิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ และควรเรียนรู้วิธีในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะอาการของโรคนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์
ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือโดยการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) ประกอบกับการใช้เครื่อง AED ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น เพราะหากช้าเพียงนาทีเดียวก็จะทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยลดลง
"เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเข้าอมรม ให้ความรู้กับพนักงานบริษัทและตัวแทนของชุมชน ให้เรียนรู้ถึงการใช้งานเครื่อง AED และการช่วยชีวิตตามห่วงโซ่การรอดชีวิต อาทิ การเรียนรู้ขั้นตอนในการโทรขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 การช่วยฟื้นคืนชีพพร้อมกับการใช้งานเครื่อง AED ซึ่งการอบรมครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะหากพนักงานหรือประชาชนสามารถใช้งานเครื่อง AED และช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ก็จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้นด้วย" เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
อย่างไรก็ตามการที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการติดตั้งเครื่อง AED ภายในอาคารบริษัท และชุมชนใกล้เคียง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ดังนั้น สพฉ. จึงอยากเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่มีความพร้อม เร่งติดตั้งเครื่อง AED ภายในอาคารและชุมชนใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของ สพฉ. เองก็มีโครงการส่งเสริมการติดตั้งเครื่อง AEDในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิ สนามบิน สถานีขนส่ง ตลาด และแหล่งชุมชนต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน
ขณะที่ คุณศิรินันท์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซบิท พีเอ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า เครื่อง AED ที่บริษัทจัดซื้อ และนำมาติดตั้งภายในบริษัท และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงนั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการดูแลทั้งพนักงานในบริษัท และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงบริษัทเราให้ปลอดภัยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ด้วยเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในชีวิตของพนักงานและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งชุมชนปีนังถือเป็นชุมชนนำร่องแห่งแรกที่ได้รับการติดตั้งเครื่อง AED และเรียนรู้เรื่องการใช้งาน ซึ่งปีต่อไปเราจะประสานให้ สพฉ.เข้ามาให้ความรู้กับประชาชนในอีกหลายชุมชนที่อยู่รอบบริษัท เพื่อให้การใช้งานเครื่อง AED เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการช่วยชีวิตประชาชนอีกด้วย