กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,132 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 6 - 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตาราง สำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หลังที่ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้วันที่ 7 ส.ค. 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และการเตรียมการออกเสียงประชามติ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ร้อยละ 58.8 อันดับสองคือไม่ทราบ ร้อยละ 30.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 11.0ไม่ทราบว่าสามารถขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด โดยสามารถยื่นผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ได้ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ร้อยละ 49.9 และไม่ทราบว่าสามารถขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด โดยสามารถยื่นผ่านทางไปรษณีย์ได้ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ร้อยละ 42.7
คิดว่าดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร้อยละ 48.1 โดยคิดว่าจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ฉลาดรู้ประชามติ เป็นอันดับแรก ร้อยละ 50.6 อันดับสองคือแอพพลิเคชั่น ดาวเหนือ ร้อยละ 29.9 และอันดับที่สามคือแอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด ร้อยละ 19.5
ในส่วนของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 อยู่ ในระดับเข้าใจปานกลางเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 54.3 อันดับสองคือเข้าใจน้อย ร้อยละ 28.4 และอันดับที่สามคือ เข้าใจมาก ร้อยละ 17.3 และอยากให้หน่วยงานของรัฐให้ข้อมูลเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร้อยละ 57.9 รวมไปถึงอยากให้สื่อมวลชนให้ข้อมูลเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร้อยละ 57.0
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ร้อยละ 60.6 อันดับสองคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.5 และอันดับที่สามคือ ไม่ไปออกเสียงประชามติ ร้อยละ 18.9 และคิดว่าจะศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ก่อนไปออกเสียงประชามติ ร้อยละ 47.6
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติ ร้อยละ 51.7 อันดับสองคือยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 29.2 และอันดับที่สามคือไม่เห็นชอบ ร้อยละ 19.1