กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--smebank
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้แถลงข่าว ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2559 โดย นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. (SME Development Bank) และความร่วมมือโครงการ 3 ประสาน 3 พลัง SMEs ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อประสานความร่วมมือผลักดันสินเชื่อและการพัฒนาสู่ผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดพลังกระตุ้นการขับเคลื่อนของ SMEs ให้เดินหน้าต่อไป ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของธนาคาร เดือนพฤษภาคม 2559 มีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559 ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 898 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศรวม 13,242 ล้านบาท จำนวน 4,349 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 3 ล้านบาท โดยสินเชื่อSMEs บัญชีเดียวที่ธนาคารเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 วงเงินรวมโครงการ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจติดต่อขอใช้บริการ ณ 20 มิถุนายน 2559 วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท รวม 2,300 ราย และได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว วงเงิน 1,639 ล้านบาท จำนวน 715 ราย ทั้งนี้ ณ 31 พฤษภาคม 2559 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 87,927 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 15.49%
2. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ 31 พฤษภาคม 2559 มียอด NPLs คงเหลือ 21,020 ล้านบาท (คิดเป็น 23.91% ของสินเชื่อรวม) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 67 ล้านบาท จากเดือนเมษายน มียอด NPLs เท่ากับ 20,953 ล้านบาท (คิดเป็น 23.55% ของสินเชื่อรวม) ทั้งนี้เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง พืชผลการเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อลูกหนี้รายย่อยที่มีความอ่อนแออยู่แล้ว ได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้จัดทีมลงพื้นที่เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือปรับโครงสร้างตามสภาพความเป็นจริงทุกราย
3. ความร่วมมือโครงการ 3 ประสาน 3 พลัง SMEs โดยเป็นการผนึกกำลังของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องสำคัญ 2 มิติ คือ มิติการนำผู้ประกอบการรายเล็กที่มีศักยภาพสู่แหล่งทุนในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2559 และมิติช่วยประคับประคองผู้ประกอบการที่อ่อนแอให้สามารถฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ธพว.จะเปิดช่องทางด่วนในการอำนวยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งทางสมาพันธ์ได้ช่วยคัดกรองเบื้องต้นจำนวน 591 ราย วงเงินรวม 2,813.81 ล้านบาท รวมถึงร่วมมือกับ สสว. ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมาก ส่งผู้ประกอบการเป้าหมายให้ธนาคารอีกส่วนหนึ่ง ความร่วมมือครั้งนี้เป็นระดับรายพื้นที่ระหว่างสาขา / เขต / ของ ธพว. กับศูนย์ OSS (SME One-stop Service Center) ของ สสว. และประธานสมาพันธ์จังหวัด เพื่อส่งต่อลูกค้าในการดูแลสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สสว. จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกลุ่มที่กิจการกำลังประสบปัญหา สามารถเข้ารับการช่วยเหลือการพัฒนาศักยภาพและขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนพลิกฟื้นกิจการของ สสว. รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทแบบไม่มีดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งจะมีการจัดงานใหญ่ภายใต้ชื่อ "สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ" ในวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559 นี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นงานครบเครื่องเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ธุรกิจสะดุดให้สามารถฟื้นฟูกิจการกลับมาใหม่ตามกฎหมายใหม่ฟื้นฟูกิจการ SMEs (พ.ร.บ. ล้มละลายฉบับที่ 9/ 2559) ซึ่งมีผลแล้วเมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
4. โครงการจัดตั้ง Innovation Center และศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการไทย โดย ธพว. ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการStartup และ SMEs และเป็นไปตามแนวนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Thailand 4.0 โดยทางสถาบันพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังจะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการให้สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ผลักดันผู้ประกอบการให้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ และดูแลผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด จนสามารถจัดตั้งกิจการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยควบคู่กับการเข้าสู่แหล่งเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อหรือร่วมลงทุน จาก ธพว. เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลงานนวัตกรรมไปต่อยอดทางธุรกิจให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งในงานนี้ ได้นำนวัตกรรมเครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ(Durian Maturity Inspection) ซึ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน 44thInternational Exhibition and Infention of Geneva 2016 ณ สมาพันธ์รัฐสวิส เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และ Grubbot หุ่นยนต์เสริฟน้ำ เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างมาเพื่อขนส่งเอกสารหรือวัตถุในอาคารสำนักงาน ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนแรงงานคน รวมถึง พื้นกำหนดพลังงาน เพียโซอิเล็คทริค โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ มาจัดแสดงในงานด้วย