กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ประชาสัมพันธ์ อพวช.
ปทุมธานี/ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพมหานคร กับ โครงงาน"การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและชนิดของใบไม้แห้งที่ส่งผลต่อความสามารถในการสร้างหวอดของปลากัด"คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงงาน Global Natural History Day 2016 – Thailand final ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลองห้า ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2559 ก่อนนำผลงานไปสู่การแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติต่อไป ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรุงเทพฯ และมูลนิธิ Behring Global Educational Foundation (BGEF) จัดการประกวดโครงงาน Global Natural History Day – Thailand final เพื่อประชันความคิดสร้างสรรค์ด้านธรรมชาติวิทยา ในการนำเสนอผลงานผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการคัดเลือกตัวแทนเยาวชน 40 ทีมจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ก่อนคัดเลือกเยาวชน 8 ทีม ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชย อีก 5 ทีม ไปแข่งขันต่อในเวทีระดับนานาชาติ ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งจะมีเยาวชนจากระดับนานาประเทศเข้าร่วมแข่งขันกันในเดือน กรกฏาคม 2559
ผลปรากฏว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพมหานคร ได้คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ได้แก่ นายภูวนาถ เตรียมชาญชัย และนายธัชกร จินตวลากร กับ โครงงาน"การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและชนิดของใบไม้แห้งที่ส่งผลต่อความสามารถในการสร้างหวอดของปลากัด" โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษานิเวศวิทยาของปลากัดสายพันธุ์ต่างๆที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพน้ำ และใบไม้แห้ง ศึกษาสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อหวอดของปลากัด รวมถึงการประยุกต์ใช้สารสกัดจากหวอดปลากัด เพื่อนำไปเป็นวัสดุเคลือบในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด โดยจากการทดลองพบว่า หวอดที่แช่ในใบหูกวางแห้งสามารถช่วยยืดอายุอาหารสดได้อีกด้วย
ด้านนายธัชกร และนายภูวนาถ เผยว่า "รู้สึกดีใจ และขอบคุณ ทาง อพวช. และมูลนิธิ Behring Global Educational Foundation (BGEF) ได้ให้โอกาสดีๆแบบนี้กับพวกผม ซึ่งการได้รับรางวัลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่องทางที่จะได้ไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านธรรมชาติวิทยาในต่างประเทศ หลังจากนี้เราก็จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ที่ต้องปรับโครงงานให้มีความชัดเจน และสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงเตรียมตัวความพร้อมทางด้านภาษาให้มากยิ่งขึ้น"
นอกจากนี้เยาวชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากทีม ด.ญ.วริศรา เขตคึรี และด.ญ.ธีราภรณ์ หิรัญมาศ จากโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา จ.ระยอง กับโครงงาน "บ้านหลังน้อยของปูเสฉวน" และเยาวชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมจากโรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จ.สกลนคร ได้แก่ ด.ญ.ฑิตฐิตา เสาสุวรรณ และ ด.ญ.สกาวรัตน์ ทองขัน กับโครงงาน "แมงแคง...ดัชนีแห่งความอุดมสมบูรณ์" รวมทั้งเยาวชนที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 5 ทีม ก็จะได้ไปเข้าร่วมการประกวดแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติต่อไป
โดยนางกรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "สิ่งที่เยาวชนไทยได้จากการประกวดครั้งนี้ นอกจากรางวัลต่าง ๆ ที่เยาวชนได้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์การประกวดในระดับประเทศ การสร้างมิตรภาพ การเรียนรู้กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนทุกคนได้เกิดทัศนคติที่ดี รวมทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโลกของเราในอนาคตอีกด้วย"