กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 19/2559 วันจันทร์ที่ 13 มิ.ย. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาโทษปรับทางปกครองสูงสุดช่องพีซ ทีวี ภายหลังสำนักงาน กสทช. ตรวจพบการออกอากาศรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" เมื่อวันที่ 11 มี.ค. และ วันที่ 21 มี.ค. 59 รายการ "เข้มข่าวดึก" เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 59 และรายการ "ห้องข่าวเล่าเรื่อง" วันที่ 28 มี.ค. 59 มีเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับ 103/2557 และเป็นการขัดต่อเงื่อนไขในการออกอากาศตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. นอกจากนี้ที่ประชุมจะมีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีการออกอากาศรายการ Wake Up News ทางช่องรายการ Voice TV เมื่อวันที่ 21 เม.ย.59นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ภายหลังจากที่สำนักงานได้ขอถอนวาระการประชุมไปในการประชุม กสท.ครั้งที่ 17/59 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 59
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เป็นครั้งที่สองแล้วที่มีการเสนอโทษให้เพิกถอนใบอนุญาตช่องพีซทีวี เนื่องเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติซึ่งทางอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้วิเคราะห์เองว่าไม่สามารถเอาผิดตามฐานมาตรา 37 ตามปกติของ กสทช.ได้ จึงต้องใช้ฐานอำนาจพิเศษคือประกาศ คสช. ซึ่งเสียงในอนุกรรมการฯก็ไม่เป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 4 โดยเฉพาะความเห็นของนักวิชาการและนักกฎหมายมองว่าไม่ได้ผิดขนาดนั้น โดยเฉพาะถ้าถึงขั้นจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนตัวก็เห็นต่างจากมติอนุเนื้อหา แต่เห็นด้วยกับอนุกรรมการเสียงข้างน้อยและคิดว่าตนเองจะเป็นเสียงข้างน้อยใน กสทช. อีกครั้งที่เห็นต่างเรื่องการจะเพิกถอนใบอนุญาติช่องพีซทีวี เพราะเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันฝ่ายอำนาจรัฐก็ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายค้านได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว ถ้าจะปิดทีวีดาวเทียมฝ่ายค้านซึ่งตอนนี้ก็ลดโทนลงมากแล้ว จะยิ่งทำให้สถานภาพด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองของไทยลดลงอีกจนเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายและตอกย้ำบรรยากาศความหวาดกลัว ตึงเครียดในการลงประชามติที่กำลังจะมาถึงนี้ รอบก่อนหลังจากมติส่วนใหญ่เสนอให้เพิกถอนใบอนุญาต ทางช่องพีซ ทีวี ไปฟ้องศาล จนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รอบนี้รอดูว่าจะออกมาอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่าการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์โดยฐานกฎหมายพิเศษ จะเข้าข่ายการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุได้ เพราะจะกระทบกับรายการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงพนักงานและลูกจ้างทั้งหมดจะตกงานกะทันหันด้วย
"ส่วนกรณีช่องวอยซ์ทีวี ความเห็นในอนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญเสียงก็แตก 7:4เช่นกัน โดยเสียงข้างน้อยที่เป็นนักวิชาการสื่อและกฎหมายมองว่ายังไม่ขัดมาตรา37 คงเพราะยังเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและตรวจสอบ ตั้งคำถามการใช้อำนาจของภาครัฐตามหน้าที่ของสื่อ จะให้เชียร์อย่างเดียวก็จะฝืนความเป็นจริงมากเกินไป สังคมควรต้องมีการถ่วงดุลบ้าง การลงโทษหนักช่องโทรทัศน์ที่มีจุดยืนต่างจากฝ่ายรัฐ จะทำให้ กสทช. ถูกมองว่าขาดความอิสระในการทำหน้าที่และใช้อำนาจในมิติทางการเมืองมากเกินไป ในขณะที่เรื่องอื่นๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบกลับยังอ่อนแอมากในการใช้อำนาจกำกับดูแล ดังนั้น ดิฉันยังหวังว่า บอร์ด กสท. จะพิจารณาวาระอย่างรอบคอบและมีความเป็นธรรมในการใช้อำนาจด้วย" สุภิญญา กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาแนวทางดำเนินการกรณีผู้รับใบอนุญาต 5 ราย ที่ยังค้างการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ได้แก่ ผู้รับใบอนุญาตช่อง PPTV HD ช่องไทยรัฐทีวี ช่องGMM ONEช่องGMM25 และช่องไบรท์ทีวี
วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ การออก (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... วาระการพิจารณาคำขอยกเว้นการเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปของผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก จำนวน 29 ราย วาระการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี จำนวน 4 ช่อง วาระการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง กรณีเกิดข้อขัดข้องในการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และวาระการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ของช่องรายการ โฮม ชาแนล, กอแก้ว, ซุปเปอร์ริช ซุปเปอร์รวย, ไบรท์ทีวี, 1TV และเรื่องร้องเรียนอื่นๆ สามารถติดตามความคืบหน้าวาระอื่นๆ ในการประชุมวันจันทร์...