ภาครัฐฯ ให้ความสำคัญสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์เต็มกำลังหนุนเอกชนให้ความรู้ จัดสัมมนาการบริหารซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ส่งท้ายปี

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 30, 2001 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (ECID), สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI), สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) และกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) ร่วมมือให้ความรู้ความเข้าใจการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมประกาศให้เวลาตรวจสอบระบบไอทีในองค์กรผ่อนผันการปราบปรามเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละ องค์กรมีเวลาในการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฏหมายโดยปราศจากความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรม การปราบปรามใดๆ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ศกนี้ไปจนถึงวันที่ 5 มกราคมศกหน้า
มาตรการผ่อนผันการปราบปราม ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 ส่วนด้วยกันคือ การส่งไดเร็กเมล์ไปยังองค์กรธุรกิจและภาครัฐ มากกว่า 30,000 ฉบับ เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงความสำคัญของซอฟต์แวร์ในฐานะทรัพย์สินขององค์กร พร้อมทั้งแนะนำให้มีการตรวจสอบระบบไอทีเพื่อให้สามารถควบคุมการใช้งานระบบไอทีอย่างถูกต้องและปลอดความเสี่ยง และอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ การจัดสัมมนาความรู้เรื่อง "การจัดการทรัพย์สินประเภทซอฟต์แวร์ (Software Asset Management - SAM)" ซึ่งเป็นการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดการซอฟต์แวร์ในฐานะทรัพย์สินทางธุรกิจ และการบริหารจัดการด้านซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสมจัดเป็นหลักปฏิบัติทางธุรกิจอย่างหนึ่ง งานสัมมนาครั้งนี้มุ่งไปที่การกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจไทยได้นำความรู้ที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้จะเป็นการก่อให้เกิดการให้ความเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาและเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
"มาตรการผ่อนผันการปราบปรามการละเมิดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องภายในองค์กร ซึ่งกำหนดให้อยู่ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2545 โดยในระหว่างนั้นองค์กรต่างๆ จะมีเวลาในการตรวจสอบระบบไอทีในองค์กรว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่นั้นมีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีที่จะทำการแก้ไขและปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย" พล.ต.ต. เอกรัตน์ มีปรีชา ผู้บังคับการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ กล่าวและเสริมว่า "โดยกิจกรรมด้านการปราบปรามซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจจะถูกระงับลงเป็นการชั่วคราว และหลังจากการสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว การดำเนินมาตรการปราบปรามอย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มต้นอีกครั้ง"
"ปัจจุบันประเทศไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติอยู่ประมาณ 20,000 คน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณปีละ 23,000 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลักหลายประการคือ บุคลากรที่มีคุณภาพ ระบบการบริหารที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเงินทุนในการพัฒนาซึ่งมาจากการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่มีสูงถึง 79 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่จะเกิดการลงทุน การสร้างงาน การพัฒนาบุคลากรและอื่นๆ ก็จะน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจะสูญเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาและเติบโตในเวทีการค้าโลก ซึ่งเราคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยกว่าต่างชาติเลย ความร่วมมือระหว่างกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ, ATCI, ATSI และ BSA เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งหวังที่จะสร้างความเคารพ ความเข้าใจในการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง" คุณอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ ประธาน สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยกล่าว
"ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันดังกล่าว กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ, ATSI, ATCI และ BSA จะร่วมกันจัดงานสัมมนาฟรีในหัวข้อเรื่อง "การจัดการทรัพย์สินประเภทซอฟต์แวร์ (Software Asset Management)" เพื่อส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของบริษัท และการใช้ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย งานสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ ห้องบอลล์รูม โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ" พล.ต.ต. เอกรัตน์ มีปรีชา ผู้บังคับการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ กล่าวเสริม
ข้อมูลเกี่ยวกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ
กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (บก.สศก.) มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามบทกฎหมายอื่นอันเป็นความผิดคดีอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทั่วราชอาณาจักร ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ติดต่อประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมธุรกิจคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ โดยรวมคือ ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรวมถึงการค้าผลิตภัณฑ์ บริการ และการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขอุปสรรคขัดข้อง ระหว่างเอกชนและหน่วยงานราชการ ในการพัฒนาอุต-สาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย ส่งเสริมและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาร-สนเทศ (IT) และพัฒนาบุคลากรเพื่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม IT ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การค้าและการวิจัยทางด้านสารสนเทศ ระหว่างมวลสมาชิก และผู้สนใจ ให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่าง ๆ แก่สมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร และสมาคมวิชาชีพที่มีวัตถุประสงค์แนวเดียวกันกับสมาคมฯ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่มวลสมาชิกและมวลชน เพื่อความรู้และการดำเนินนโยบาย กิจกรรมสำคัญของสมาคมฯ คือ การจัดนิทรรศการคอมพิวเตอร์ประจำปี ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นงาน IT Trade ซึ่งเป็นงานสำคัญระดับชาติในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ รวมถึงการสัมมนาความรู้ และความก้าวหน้าของวงการสารสนเทศให้แก่ผู้สนใจและมวลชน
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการผลักดันนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้านการตลาด, ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหาร ด้านการสนับสนุน ด้านตลาดอุตสาหกรรมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่ระดับนานาชาติ
ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นตัวแทนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการ ปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก บีเอสเอได้จัดกิจกรรมเพื่อให้การอบรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมโอกาสทางการค้าผ่านทางนโยบายของภาครัฐและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสมาชิกของบีเอสเอ สมาชิกของบีเอสเอเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21), อะโดบี, แอปเปิล, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์, คอเรล คอร์ปอเรชั่น, อินไพรส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, มาโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ตเวิร์ค แอสโซเอทส์, โนเวลล์, ไซแมนเท็ค และวิสซิโอเป็นต้น ส่วนที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมถึง คอมแพค, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูวิท และไซเบสด้วย
นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030
อีเมล์: pranee@pc-a.inet.co.th
เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ