กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ประสบผลสำเร็จด้านการสนับสนุนทางวิชาการและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันแผนอนุรักษ์พลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย
ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาปิดโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (Thai – German Programme on Energy Efficiency Development Plan, TGP-EEDP) ว่าได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) เพื่อส่งเสริมการทำงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานความร่วมมือหลักคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) รวมทั้งมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันวุพแพร์ทาล ประเทศเยอรมนี
"ตลอดระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายอนุรักษ์พลังงานให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอาคารธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ซึ่งการอนุรักษ์พลังงานถือเป็นวาระสำคัญของชาติ ที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนและจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานในอนาคต อันเนื่องมาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยผลการดำเนินงานของโครงการได้เสนอแนะนโยบายที่สำคัญและน่าสนใจ อาทิ การพัฒนาดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency Indicator; EEI) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการวางกรอบมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ผลิตไฟฟ้า (EERS) ที่ยังเป็นมาตรการใหม่ และไม่เคยดำเนินการมาก่อนในประเทศไทย และข้อเสนอให้มีการพัฒนากลไกการค้ำประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee) สำหรับโครงการอนุรักษ์พลังงานและธุรกิจการจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) เชื่อมโยงกับกลไกที่มีอยู่แล้วของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้กระทรวงการคลัง ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs รวมถึง ESCO มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น เพื่อรองรับรูปแบบการดำเนินการของ ESCO อย่างครบวงจร อันนำไปสู่ความสำเร็จของการอนุรักษ์พลังงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ของประเทศ"
"อีกตัวอย่างหนึ่งของผลงานจากโครงการ TGP-EEDP คือ การจัดทำคู่มือแนวทางเบื้องต้นในการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงเชิงสถาปัตยกรรม เนื่องจากปัจจุบันการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการจัดทำคู่มือดังกล่าวเพื่อสร้างความรู้และเป็นแนวทางเบื้องต้นให้กับเจ้าของอาคารและสถาปนิกในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูง โดยคู่มือจะมุ่งเน้นแนวทางการออกแบบอาคาร และแสดงให้เห็นว่า การออกแบบอาคารตามมาตรฐาน (Building Energy Code : BEC) ไม่ใช่เรื่องยากและการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงก็เป็นไปได้เช่นกัน" ดร. ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่มีต่อกันมากว่า 150 ปี อันนำมาซึ่งความร่วมมือกันทางด้านวิชาการ ซึ่งรัฐบาลของเยอรมนี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงานนี้ ซึ่งโครงการได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อันจะนำมาสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานและการบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงานเข้ากับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเจตจำนงของประเทศไทยที่ได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"