กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง
บล.ทรีนีตี้ วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยลอยตัวกรณีอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจิตวิทยาเชิงลบในระยะสั้น แต่คาดเม็ดเงินลงทุน (Fund flow) บางส่วนไหลเข้าตลาดทุนของประเทศเกิดใหม่และตลาดหุ้นไทย หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลงหนัก แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนที่ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) บริเวณ 1,380 - 1,400จุด เน้นเก็บหุ้น P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ราคามีอัพไซด์ เข้าพอร์ต
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงมุมมองผลกระทบต่อภาพรวมตลาดทุนหลังจากผลการนับคะแนนประชามติบ่งชี้ว่าฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปมีชัยชนะด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ว่า หากมองในกรณีดีที่สุด อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างราบรื่นและสามารถผ่านพ้นอุปสรรคในระยะสั้น จนนำไปสู่ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ โดยในสมมติฐานนี้อังกฤษจะต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เกื้อกูลและไม่กีดกันประชาชนและธุรกิจจากสัญชาติอื่นในสหภาพยุโรป และจะต้องมีการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศอื่นภายในสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรป (Non-EU) อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ซึ่งอาจรวมถึงไทยด้วย
อย่างไรก็ตามในระยะสั้นการออกจากลุ่มสหภาพยุโรปย่อมทำให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างแน่นอน การจำกัดแรงงานจากต่างประเทศอาจทำให้อังกฤษขาดแคลนบุคลากรแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลิตภาพและความสามารถทางการแข่งขันในระยะกลาง แต่เชื่อว่าเมื่อตั้งตัวได้แล้วอังกฤษน่าจะกลับสู่สภาพเดิมได้ ผลกระทบสำคัญในกรณีนี้ได้แก่ค่าเงินปอนด์ที่น่าจะปรับตัวอ่อนค่าในช่วงแรกจากความต้องการเข้ามาลงทุนที่ลดลง การให้กู้ยืมจากนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินของสกุลต่างๆ อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯและสกุลเงินในเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ส่วนค่าเงินยูโรมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงสั้นจากกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มที่ลดลง
หากมองในกรณีเลวร้ายสุด อังกฤษอาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) กรณีถูกต่อต้านและกีดกันทางการค้ากับประเทศอื่นในสหภาพยุโรป โดยมีสมมติฐานอังกฤษไม่สามารถเจรจาหาคู่ค้ากับประเทศ Non-EU เพื่อมาชดเชยได้ ในกรณีนี้คาดว่าผลกระทบเชิงลบที่มีต่อไทยจะตกกับกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังอังกฤษเป็นสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงไก่แปรรูป ส่วนผลกระทบเชิงท่องเที่ยวไม่น่ามีนัยสำคัญเนื่องจากนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
ทั้งนี้หากมองผลกระทบในเชิงนโยบายการเงินหลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปอาจมีการเร่งอัดฉัดเม็ดเงินผ่านโครงการมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) เพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันเอง อย่างไรก็ดีด้วยประสิทธิภาพของมาตรการ QE ที่เริ่มจำกัด ทำให้มองว่ามีความเป็นไปได้เช่นกันที่ประเทศที่เหลืออยู่ในสหภาพยุโรปอาจจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง หากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปหดตัวเกินคาดจากปรากฏการณ์ Brexit ดังกล่าว
"ให้นำหนักเชิงลบต่อกรณี Brexit เพียงระยะสั้น โดยผลกระทบอาจเกิดขึ้นกับสินค้าที่เราส่งออกไปยังอังกฤษและยุโรปโดยตรง อย่างไรก็ดีจากแนวโน้มกิจกรรมการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปที่น่าจะลดลง อาจเป็นช่องว่างให้ประเทศอื่น รวมถึงไทยในการเข้าเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศใหม่ได้" นายณัฐชาตกล่าว
สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจากกรณีดังกล่าว นายณัฐชาต กล่าวว่า คาดผลกระทบในเชิงพื้นฐานไม่มีนัยสำคัญ แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมหากเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าอย่างมากจนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเงิน Fund flow บางส่วนไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ อย่างไรก็ดีพอตลาดรับข่าวไปแล้วช่วงหนึ่ง เชื่อว่าด้วยระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากนี้ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนมีการโยกย้ายเงินออกจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อีกครั้ง มองการปรับตัวลงของ SET Index จากปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณดัชนี 1,380 – 1,400 จุด เนื่องจากเป็นระดับที่มีระดับ Valuation น่าสนใจตามมิติ Earning yield gap
สำหรับหุ้นแนะนำสะสมในช่วงนี้ยังคงเป็นหุ้นที่ประเมินว่ามีอัตราความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ที่ต่ำกว่าตลาด คือเป็นหุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำกว่า 1 เท่า อาทิ BLAND, TTA, BANPU, TPIPL, TCAP, BBL, KTB, KKP, PTTEP, SIRI