กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง Brexit จะส่งผลลบต่อไทยในด้านการค้าและตลาดเงิน โดยมองว่าการส่งออกจากไทยไปอังกฤษและยุโรปในปีนี้อาจหดตัวถึง 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.1% ในปีนี้ ขณะที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่ามากขึ้น
จบลงไปแล้วในช่วงเช้าวันนี้กับผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ หรือ UK) ด้วยผลสรุปว่าประชาชนในอังกฤษลงความเห็น 51.9% ให้อังกฤษ "ออก" จากสถานภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือกล่าวสั้นๆ คือปรากฏการณ์ "Brexit" (มาจาก British รวมกับ Exit) ได้เกิดขึ้นแล้ว
นอกจากผลกระทบด้านการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความผันผวนของตลาดการเงินโลกหลัง Brexit อาทิเช่น ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5% ขณะที่ค่าเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นราว 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์อย่างรวดเร็วเนื่องจากความไม่แน่นอนที่มากขึ้นส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกจำเป็นต้องถอยกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ในขณะที่ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรปรับตัวลง 5-10% ทันที ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกมอง Brexit เป็นปัญหาของทั้งอังกฤษและยูโรโซน
สำหรับเศรษฐกิจและตลาดเงินในช่วง "Post-Brexit" ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะจับตาทั้งการเคลื่อนไหวของทั้งอังกฤษและยุโรปในช่วงนี้ให้ดี โดยมองว่า Brexit จะส่งผลกระทบโดยตรงกับไทยมากที่สุดในสองเรื่อง คือการค้าและความผันผวนของตลาดการเงิน
ในด้านการค้า ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำจับตาไปที่ข้อตกลงที่อังกฤษเคยมีกับ EU โดยเราแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกคือผลกระทบในระดับปานกลาง กล่าวคืออังกฤษสามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้าเสรีกับ EU ใหม่ได้เร็ว ซึ่งในกรณีนี้น่าจะส่งผลไม่มากกับเศรษฐกิจยุโรปและจะส่งผลให้การส่งออกไทยไป UK และ EU หดตัวที่ระดับ 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ แต่ถ้าอังกฤษไม่สามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้ากับ EU ได้เลย อาจส่งผลกระทบรุนแรงจนมีความจำเป็นที่ทั้ง UK และ EU จะต้องลดการลงทุนระหว่างกันทั้งในอดีตและในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไปยุโรปหดตัว 8-10% ต่อปีไปอย่างน้อยในอีกสามปีข้างหน้า
จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ ในกรณีแรก การส่งออกของไทยจะลดลง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2559-2561 เฉลี่ยคิดเป็น 0.1% ของจีดีพีไทยในแต่ละปี แต่หากผลกระทบลุกลามจนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงถึง 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 3 ปี หรือคิดเป็นการหดตัวของจีดีพีไทยถึง 0.4% ต่อปีเลยทีเดียว
นอกจากด้านการค้าแล้ว ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำจับตาไปที่ภาคการเงินโลก โดยมองว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องกลับมาทบทวนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มถ้าเศรษฐกิจยูโรกลับไปหดตัวหรือค่าเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป
ในส่วนของตลาดเงินไทย ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวผันผวนมากขึ้นหลังเหตุการณ์ Brexit โดยมองว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่ลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยลง และคาดว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายในระดับ 34-36 บาท ในกรณีที่อังกฤษหาข้อตกลงกับ EU ได้โดยเร็ว ในทางกลับกันศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าถ้าปัญหาในยุโรปลุกลามจนส่งผลให้อังกฤษและ EU ไม่สามารถหาข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนจะเข้าสู่โหมด "ลดความเสี่ยง" และขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอีกครั้งซึ่งในกรณีนี้ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวอ่อนค่าเกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี
ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หลังจากจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน แต่ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังเชื่อว่า Brexit เป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศในกลุ่มยูโรโซนอื่นๆ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย หรือการเลือกตั้งในสหรัฐฯในช่วงปลายปี ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยควรติดตามและเตรียมตัวรับกับเศรษฐกิจที่จะยิ่งผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559