กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดน ใน 5 จังหวัด เผย แต่ละด่าน มีการบูรณาการร่วมเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า และผู้ให้บริการขนส่ง พึงพอใจมากต่อการให้บริการ เนื่องจาก มีการให้บริการแบบไม่มีวันหยุด สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ด่านเพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำได้ตลอดเวลา
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อติดตามประเมินผลโครงการ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.เชียงแสนและแม่สาย จ.เชียงราย อ.เมือง จ.มุกดาหาร อ.เมือง จ.หนองคาย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2559 พบว่า
การดำเนินงานของด่านตรวจสอบการส่งออกนำเข้า ณ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน ด่านประเพณี และจุดตรวจตามเส้นทางคมนาคม มีลักษณะแบบบูรณาการร่วมกันทั้งระหว่างด่านด้วยกันเอง และระหว่างด่านกับหน่วยงานภายนอก/หน่วยงานความมั่นคง เช่น ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง กองกำลังบูรพา หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) และตำรวจตระเวนชายแดน โดยหากจุดใด ไม่มีเจ้าหน้าที่ด่านใดด่านหนึ่งอยู่ประจำ เจ้าหน้าด่านอื่นหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก/หน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ประจำจุดนั้นจะช่วยดูแลและแจ้งเจ้าหน้าด่านที่รับผิดชอบเมื่อมีสินค้าส่งออกนำเข้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านตรวจพืชแม่สอดรับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.แม่สอด (จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – พม่า คลังสินค้าอนุมัติชั่วคราวบริเวณริมแม่น้ำเมย 20 คลัง และจุดตรวจร่วมบ้านห้วยหินฝน) อ.ท่าสองยาง (ด่านด้านหลังโรงพัก) อ.แม่ระมาด (ด่านวังแก้ววังยา) อ.พบพระ (ด่านวาเล่ย์) อ.อุ้มผาง (ด่านเปิง เคลิ่ง) อ.เมืองพิษณุโลก (สนามบินพิษณุโลก) อ.สวรรคโลก (สนามบินสุโขทัย) อ.เมืองแม่ฮ่องสอน (จุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดินและจุดผ่อนปรนบ้านห้วยผึ้ง) อ.แม่สะเรียง (จุดผ่อนปรนบ้านเสาหิน) อ.ขุนยวม (จุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น) และ อ.สบเมย (จุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ)
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ผลจากการบูรณาการในการดำเนินงาน จากการติดตามพบว่า ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า และผู้ให้บริการขนส่ง (Shipping) พึงพอใจมากต่อการให้บริการขออนุญาตส่งออกนำเข้า และตรวจปล่อยสินค้าของด่าน เนื่องจากมีการให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด และมีการให้บริการนอกสถานที่ อาทิ ด้านปศุสัตว์ การไปตรวจสุขภาพโค กระบือ ฉีดวัคซีน ติดเบอร์หู และตีตราที่คอกกักของผู้ประกอบการ มีการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ E-movement ของด่านกักกันสัตว์ Fisheries Single Window (FSW) ของด่านตรวจสัตว์น้ำ และNational Single Windows (NSW) ของด่านตรวจพืช มีความสะดวกรวดเร็ว ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปที่ด่าน เพื่อรอขอใบอนุญาต อีกทั้งยังเห็นว่า เจ้าหน้าที่มีความเป็นกันเอง ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ กับผู้ประกอบการ เช่น การให้ข้อมูลการส่งออกนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการไม่เคยทำมาก่อน (ปลิงทะเลและส้มเขียวหวาน) การสอนใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชี้แจงทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงระบบการขออนุญาตจากเอกสาร เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ด่านเพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการให้บริการของด่านและส่งเสริมการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรในระยะต่อไปควรมีจุด One Stop Services (OSS) หรือ One roof ภายในพื้นที่ด่านพรหมแดน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอใช้บริการด่านทั้ง 3 ด่านได้ภายในจุดเดียวกัน และพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละด่านให้มีลักษณะเดียวกัน รวมทั้งเพิ่มเติมความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบการส่งออกนำเข้าของประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระหว่างปีงบประมาณ 2557 – 2560 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เพื่อบูรณาการพัฒนาด่านสินค้าเกษตรชายแดนให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล มีศักยภาพตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ส่งออกและนำเข้าประเทศไทย