กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ซี ทู วัน เอ็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์
ส.รับสร้างบ้านชี้เศรษฐกิจโลกเปราะบาง หลังอังกฤษออกจากอียู หวั่นกระทบภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนในไทย พร้อมเดินหน้าจัดงาน"มหกรรมรับสร้างบ้าน Home Builder Expo 2016"ระหว่างวันที่ 18-21สิงหาคมนี้ หวังกระตุ้นยอดขายครึ่งหลังปี2559
นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวแสดงความเห็นถึงกรณีที่อังกฤษออกจากอียู (BREXIT) เมื่อวันนี้ (24 มิ.ย.)คงจะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนที่ว่าจะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆมีการทำธุรกิจ-การค้ากับอังกฤษมากหรือน้อยเพียงใด ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจคงอยู่ในภาวะที่ซึมไประยะหนึ่ง สำหรับประเทศไทยอาจจะกระทบในเรื่องค่าเงินและการท่องเที่ยว รวมถึงอาจเกิดภาวะความผันผวนตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศอาจเกิดภาวะชะลอได้ ส่วนการส่งออกไม่กระทบมากเพราะไทยมีการส่งออกไปอังกฤษไม่มากและเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย
ส่วนผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน เห็นว่าไม่น่าจะทบมาก เพราะกลุ่มผู้บริโภคที่จะปลูกสร้างบ้านนั้นมีการวางแผนไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบลูกโซ่มายังประเทศไทย การเดินหน้าจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายให้กับสมาชิกผู้ประกอบการรับสร้างบ้านของสมาคมฯก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดจัดงานขึ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดเดือนมีนาคม
ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดในเดือนสิงหาคม ในปีนี้จัดภายใต้ชื่อ "มหกรรมรับสร้างบ้าน Home Builder Expo 2016" ระหว่างวันที่ 18–21 สิงหาคม 2559 ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในคอนเซ็ปต์"Get More:งานเดียวจบครบเรื่องสร้างบ้าน" เป็นงานเดียวที่รวบรวมบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำมากที่สุดในประเทศ, ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างชั้นนำ, ออกแบบและตกแต่งภายใน, ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรับสร้างบ้าน, และสถาบันการเงิน เป็นต้น
การจัดงานดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯในช่วงครึ่งหลังของปี 2559
พร้อมกันนี้นายพิชิต กล่าวให้ความเห็นในตอนท้ายด้วยว่า การที่อังกฤษออกจากอียูอาจจะทำให้เงินปอนด์อ่อนค่า เห็นได้จาก ณ วันที่ 24 มิ.ย.อ่อนค่ามาอยู่ที่ 48..29 บาทต่อปอนด์หรืออ่อนค่าลงประมาณ 10%จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 51.48 บาท ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 23 มิ.ย.อยู่ที่ 35.197 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้นมาเป็น 35.375 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 24 มิ.ย.ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผูกติดกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก็จะส่งผลดีต่อการส่งออก เพราะเมื่อนำกลับมาแลกเป็นสกุลเงินบาทจะได้มากขึ้น