กรุงเทพมหานครและหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดแนวทางป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี

ข่าวทั่วไป Wednesday March 8, 2000 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 7 มี.ค. 43 ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานด้านกากของเสียและสารอันตรายในกรุงเทพมหานครว่า ปัญหาอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมี หรือวัตถุอันตราย นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะชุมชนเขตเมืองขนาดใหญ่ ในการนี้กรุงเทพมหานคร กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมกำหนดแผนงานป้องกันอุบัติภัยจากสารอันตราย และแผนแก้ไขอุบัติภัยจากสารอันตรายขึ้น
สำหรับมูลเหตุที่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าสารเคมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการประเมินตัวเลขมีประมาณ 28,000 ชนิด และได้มีการขนย้ายสารเคมีจากท่าเรือคลองเตย ไปยังโรงงานต่างๆ โดยผ่านชุมชนหนาแน่นด้วย ประกอบกับแต่เดิมมีสารเคมีอันตรายที่อยู่ในขั้นตอนการควบคุมของกทม. การท่าเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 39 ชนิด ปัจจุบันได้มีการขยายการควบคุมสารดังกล่าวเป็นถึง 380 ชนิด ดังนั้นหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดทำสรุปแผนงานป้องกันอุบัติภัยจากสารอันตราย ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 1. ภายใน 30 วัน ทางราชการจะประกาศกำหนดเวลา และเส้นทางขนส่งสารเคมี 380 ชนิดตามถนนสายต่างๆ โดยห้ามวิ่งนอกเส้นทาง หรือเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้กองบังคับการตำรวจจราจรจะเป็นผู้กำกับการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว รวมทั้งกทม. และกรมควบคุมมลพิษ จะเข้าไปคุ้มกันในบางครั้งด้วย 2. จะมีการตรวจสอบโกดังสินค้าที่ลักลอบเก็บสารอันตราย และโกดังที่ได้รับอนุญาตด้วย ว่ากระทำตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ รวมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นแนวทางในการเข้าตรวจสอบโกดังสารเคมีอันตรายดังกล่าว นอกจากนี้ภายใน 30 วัน ตนจะประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมอบอำนาจแก่เจ้าหน้าที่กทม. ตำรวจ และกรมควบคุมมลพิษ ในการเข้าตรวจค้นทั้งโกดังเก็บสารเคมีปกติและโกดังเก็บสารเคมีอันตรายที่ผิดกฎหมาย
ประการที่ 3 สารเคมีที่นำเข้ามาต่อไปนี้จะต้องติดรหัสสหประชาชาติ หรือ UN CODE ทุกถัง รวมทั้งต้องติดป้ายแสดงความเป็นอันตรายไว้ข้างยานพาหนะและเอกสารกำกับสารเคมี/วัตถุอันตรายประกอบการขนส่ง โดยกทม. จะประสานกับกรมการขนส่งทางบกให้มีเข้มงวดในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันกทม. สามารถเชื่อมโยงสัญญาณกับวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อให้ได้ทราบว่ารหัสสินค้าของสารเคมีชนิดนั้นๆ ควรมีการดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้น ประการที่ 4 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้โรงงานอุตสาหกรรม 12 ประเภท จัดทำแผนการป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุของสาร 12 ประเภท และเมื่อมีประกาศออกมาแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จะสั่งการให้โรงงานอุตสาหกรรมทั้งในกทม. และต่างจังหวัดที่ครอบครองสารเคมีอันตรายทั้ง 12 ประเภท ต้องทำแผนฉุกเฉินของตนเอง โดยผ่านการตรวจสอบแผนจากกรมควบคุมมลพิษ และกทม. มิฉะนั้นโรงงาน โกดัง หรือสถานที่เก็บสารเคมีเหล่านั้น จะต้องถูกสั่งปิดดำเนินการทันที--จบ-

แท็ก เคมี   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ