กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กสอ. โชว์ "คีรีวง โมเดล" หมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว นำร่องปั้นคีรีวงบาติกสร้างอัตลักษณ์ให้ท้องถิ่น
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิด "คีรีวง โมเดล" หมู่บ้านต้นแบบอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้าโอทอปผนวกการท่องเที่ยว ในโครงการ "หมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว" พร้อมเผย 5 กลยุทธ์ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบท โดย กสอ. ได้นำร่องพัฒนา 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเชียง จ.อุดรธานี บ้านนาตีน จ.กระบี่ บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย บ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ บ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี และ บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้กว่า 10 ล้านคนต่อปี รวมถึงขยายการพัฒนาไปยังหมู่บ้านชนบทที่มีศักยภาพอื่นๆ อีกกว่า 50 หมู่บ้านในอนาคต
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางในการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบทควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ผ่านแนวคิด "หมู่บ้านอุตสาหกรรม" โดยตั้งเป้าหมายให้แต่ละชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและสามารถเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ "หมู่บ้านอุตสาหกรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ซึ่งเชื่อมโยงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กับการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยชุมชนของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
โดยในปี 2559 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมนำร่องรวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย บ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ เป็นต้น บ้านนาตีน จ.กระบี่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ เป็นต้น บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย แหล่งมรดกโลกด้านอารยธรรม มีสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน เป็นต้น บ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ มีสินค้าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ เสื่อกก เครื่องจักสาน เครื่องประดับของสตรี กำไล เข็มขัด น้ำพริกป่นปลาช่อน เป็นต้น บ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี สินค้าที่โดดเด่นส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายโบราณบ้านนาตาโพ ซึ่งนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผ้าซิ่นจก ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวม้า ผ้ารองจาน เป็นต้น และบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช
การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่สอดคล้องกับแนวคิด "ประเทศไทย 4.0" เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่ง กสอ. มีแนวทางในการส่งเสริมตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐ ที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ซึ่งคาดว่า "โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จะสามารถสร้างเม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนนำร่อง 6 หมู่บ้านได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 10-15% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปัจจุบันรวมกว่า 8.4 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้จากสถิติโดยภาพรวมของประเทศไทย ในปี 2558 มีผลิตภัณฑ์โอทอปกว่า 1 แสนรายการ มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวม 31,741 ราย มูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นล้านบาท และมีการขยายตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2557
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้านนำร่องคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเก่าแก่ มีประชากรในหมู่บ้านกว่า 3,000 คน มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรทำสวนผสม และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ที่ปลูกพืชต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของคีรีวง คือมังคุด เงาะ ทุเรียน และสะตอ นอกจากนี้ เกษตรกรในหมู่บ้านคีรีวงยังได้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ต่างๆ มากกว่า 12 กลุ่ม มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จนเป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียง อาทิ ผ้าบาติก สมุนไพร ผ้ามัดย้อม ทุเรียนกวน เครื่องประดับจากลูกไม้ทางธรรมชาติ ฯลฯ โดยในปี 2559 กสอ. จะเข้าไปดำเนินการพัฒนาและสนับสนุนผลิตภัณฑ์กลุ่มผ้าบาติก ผ่านการส่งเสริมด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาศักยภาพทางด้านการผลิต การให้คำแนะนำเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น ตลอดจนการพัฒนาลวดลายผ้าบาติกประยุกต์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลลัพธ์ให้กลุ่มผ้าบาติกของคีรีวง มีผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ผ้าผืน กางเกง กระเป๋า เสื้อ อื่นๆ รวมถึงสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากกว่า 150,000 บาท ต่อเดือน อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้กว่า 20-30% หรือกว่า 65,000 คน จากปริมาณนักท่องเที่ยว 50,000 คนต่อปี
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีหมู่บ้านที่มีศักยภาพในทุกภูมิภาค เหมาะสมแก่การพัฒนา รวมกว่า 50 หมู่บ้าน โดย กสอ. มีแนวทางในการส่งเสริมหมู่บ้านต่าง ๆ ผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่
1. ค้นหา "Star" โดยคัดเลือกหมู่บ้านนำร่องมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาสินค้าชุมชน โดยคัดเลือก จากชุมชนวิถีไทยดั้งเดิม ที่คงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย และมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาเพื่อเป็นการเน้นและดึงดูดให้ผู้ท่องเที่ยวได้เห็นถึงความหลากหลายของสินค้าเมื่อมาเยี่ยมชมสถานที่นั้นๆ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จำนวนมากในหลายภูมิภาคที่มีศักยภาพในการพัฒนา
2. สร้าง "Identity" โดยการค้นหาความโดดเด่นจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีความหลากหลายและสามารถหาเอกลักษณ์จากสินค้านั้นๆได้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งหากสินค้าของชุมชนมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อจากที่อื่นได้ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง โดยเอกลักษณ์ที่ว่านี้จะต้องสามารถต่อยอดได้ มีความโดดเด่น และมีคุณภาพ โดยตัวอย่างเอกลักษณ์ที่เห็นเด่นชัด อาทิ บ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี สินค้าที่โดดเด่นส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายโบราณ ซึ่งนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้าซิ่นจก ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า ผ้ารองจาน เป็นต้น
3. ปรับ "Image" การส่งเสริมในด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก ถ้าผลิตภัณฑ์มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้นๆได้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค
4. ใส่ "Innovation" ผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบให้กับผู้ที่ได้รับเลือกเข้าโครงการฯ เพื่อให้ความรู้ในการผลิตสินค้าให้ออกมาดีและมีคุณภาพมากที่สุด เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้าโอทอปให้สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมความรู้ใหม่ให้กับชุมชนหรือผู้ประกอบการสินค้าโอทอป และสามารถนำความรู้ที่ได้มานั้นไปพัฒนาสินค้าได้อย่างไม่สิ้นสุด
5. เชื่อม "OTOP Networking" การบริหารจัดการในการเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนา "หมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" โดย กสอ. มีแนวทางการจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการโอทอป โดยประเทศที่มีความนิยมสินค้าโอทอปของไทย เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ เช่น ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 โทรศัพท์. 0-2367-8338-9 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr