กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสินรุกสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในเวทีสากล ด้วยการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมธนาคารออมสินโลก WSBI Annual Meetings 2016: Banking in the 21st Century ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
นับเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำจัดการประชุมสำคัญถึง 3 คณะ คือ การประชุม WSBI Presidents Committee, Board of Directors และการประชุม General Assembly ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำธนาคารออมสินของกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ที่ว่าด้วยการออมและระบบการเงินรายย่อย โดยมีสมาชิกทั่วโลกรวมเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดแนวคิดและกลยุทธ์การบริหารเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประสานความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศจากนักการธนาคารจากทั่วโลก
ทั้งนี้ สถาบันธนาคารออมสินโลกหรือ World Savings and Retail Banking Institute (WSBI) คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างสถาบันการเงินทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการออมทรัพย์ ปัจจุบันมีสมาชิกจากสถาบันการเงินต่างๆทั่วโลกกว่า 110 แห่ง จาก 80 ประเทศ
คณะกรรมการสถาบันธนาคารออมสินโลก (WSBI Board of Directors) ประกอบด้วย กรรมการสามัญ (Ordinary Member) 23 คน และกรรมการสมทบ (Alternate Member) 4 คน รวม 27 คน มาจากผู้แทนธนาคารสมาชิกที่ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งจะจัดการประชุมกันเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลังของแต่ละปี ปัจจุบัน Mr. Heinrich Haasis จากสหพันธ์ธนาคารออมสินเยอรมัน สหพันธรัฐเยอรมัน ดำรงตำแหน่งประธานสถาบันธนาคารออมสินโลก (2555-2558)
โดยบทบาทสำคัญของไทยในสถาบันธนาคารออมสินโลก คือการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสถาบันธนาคารออมสินโลก (WSBI Board of Directors) นำโดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าบุคคล ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 ถือเป็นก้าวสำคัญที่ธนาคารออมสิน สถาบันทางการเงินของรัฐบาลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพทางธุรกิจและการเงิน ในฐานะผู้นำการออมของโลก สร้างความพร้อมและความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิกฟิก