อย.เตือนอย่าหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์สาหร่าย โฆษณารักษาโรค

ข่าวทั่วไป Wednesday August 8, 2001 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--อย.
เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสาหร่ายโฆษณาเกินจริงอวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคได้ ย้ำโฆษณาดังกล่าวผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค และขอให้ผู้บริโภคอ่านข้อมูลบนฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนซื้อมารับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้มีการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์สาหร่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาด ซึ่ง อย.พบว่าบางผลิตภัณฑ์มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยกล่าวอ้างว่าสามารถรักษาโรคมะเร็ง โรคกระเพาะ โลหิตจาง เบาหวาน โรคตับ ผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะแผ่นพับ แผ่นปลิว หรือโดยวิธีขายตรง จึงขอแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่วางขายในขณะนี้ เป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้นไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถโฆษณาในแง่การรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสาหร่ายชนิดต่างๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณในทางยาว่ารักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอันขาด เพราะหากสามารถรักษาโรคได้จริง จะต้องผ่านการพิจารณาตามกระบวนการในการขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์ยา ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์สาหร่ายจะโฆษณาว่ามีโปรตีน และธาตุเหล็กในปริมาณสูง แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงปริมาณของสารอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวัน เทียบกับปริมาณของสารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่กล่าวในโฆษณาและปริมาณของสารอาหารนั้นที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่รับประทานต่อครั้ง เช่น ถ้าในเอกสารโฆษณาผลิตภัณฑ์สาหร่ายอัดเม็ดแจ้งว่าใน 100 กรัม มีธาตุเหล็กในปริมาณ 50 มิลลิกรัม โปรตีนในปริมาณ 60 กรัม เมื่อเทียบกับขนาดรับประทาน คือ 1 เม็ด น้ำหนัก 0.5 กรัม จะมีธาตุเหล็กในปริมาณ 0.25 มิลลิกรัม และโปรตีนในปริมาณ 0.3 กรัม ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน คือ โปรตีน 50 กรัม ธาตุเหล็ก 15 มิลลิกรัม ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะได้สารอาหารจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทาน ขอให้อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร เหมาะสมที่จะรับประทานและคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไปหรือไม่ โดยสังเกตและเชื่อถือเฉพาะข้อความต้องการกล่าวอ้างคุณประโยชน์ที่ได้รับอนุญาตแล้วบนฉลากเท่านั้น ซึ่ง อย.จะมีการควบคุมเรื่องการแสดงฉลากแต่ไม่เคยรับรองและไม่อนุญาตในการแสดงสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารใดที่สงสัยว่ามีการโฆษณาไปทางยาว่ารักษาโรคได้ โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-7354-5 หรือผ่านสายด่วนผู้บริโภค 1556 กดต่อ 1005 สำหรับในส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
ทั้งนี้ การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องขออนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยข้อความที่อนุญาต ให้โฆษณาจะต้องสอดคล้องกับข้อความที่อนุญาตไว้บนฉลาก หากผู้ฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากมีการโฆษณาสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ