กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว
ทุกวันนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับการผ่าตัดทางศัลยกรรมกระดูกข้อเท้าก็เช่นกัน ที่ได้มีการพัฒนาด้านการผ่าตัดเพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ด้วยวิธีการส่องกล้อง ในส่วนของกระดูกเท้าและข้อเท้า
การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคในเท้าและข้อเท้า สามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง
สามารถผ่าตัดรักษาในโรคเอ็นร้อยหวายฉีกขาด โดยจะทำการเย็บซ่อมแซมเอ็นร้อยหวายที่ฉีกขาดผ่านกล้อง
โรคแผลเป็นและผังผืดในข้อเท้า ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกปวดและขัดในข้อเท้าในเวลาเดิน โดยเฉพาะการขึ้นลงบันได ก็สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้
กระดูกอ่อนที่ข้อเท้ามีแผลเป็น ซึ่งจะทำให้มีอาการปวด บวม ในข้อเท้า โดยเฉพาะเวลาเดินมาก ๆ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคข้อเท้าเสื่อม แพทย์ก็จะส่องกล้องเข้าไป เจาะกระตุ้นกระดูกเพื่อให้เกิดการสร้างกระดูกอ่อนขึ้นมาใหม่ทดแทน
กระดูกข้อเท้าและข้อใต้เท้าเสื่อม ซึ่งมักมีสาเหตุหลักจากอุบัติเหตุที่เท้าและข้อเท้า ก็สามารถผ่าตัดเชื่อมข้อโดยการผ่าตัดส่องกล้องได้ โรคเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรังรวมทั้งเส้นเอ็นร้อยหวายหดยึด มีอาการตึงตัวมากกว่าปกติ ก็สามารถผ่าตัดยืดเส้นเอ็นผ่านการส่องกล้องได้เช่นเดียวกัน
วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติในเท้าและข้อเท้า โดยการเจาะรูที่ผิวหนังประมาณ 8 มิลลิเมตร แล้วใช้กล้องที่มีขนาดเลนส์ประมาณ 4.0 หรือ 2.7 มิลลิเมตร แล้วแต่กรณี รวมทั้งอุปกรณ์ที่ช่วยในการผ่าตัดรักษา ผ่านทางรูเล็กๆ ที่เจาะเข้าไปซ่อมแซมและรักษาบริเวณที่มีพยาธิสภาพหรือรายโรคนั้น ๆ โดยการรับภาพจะต่อออกมาที่จอ VDO ซึ่งสามารถบันทึกภาพรวมถึงบันทึก VDO ในการผ่าตัดได้ด้วย
ทั้งนี้ประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้อง ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น เนื่องจากกระดูกและเนื้อเยื่อจะได้รับการบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบแผลเปิดทั่วไป และมีการซ่อมแซมตัวเองได้ไวขึ้น ทำให้ระยะพักฟื้นน้อยกว่า ลดเวลาการจำกัดการเคลื่อนไหวด้วยการใส่เผือกได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น การไม่ได้ผ่าตัดเปิดแผลยังทำให้สามารถลดการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย มีอาการปวดแผลผ่าตัดน้อยกว่า เนื่องจากเนื้อเยื่อชอกช้ำน้อยกว่า รวมทั้งลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ด้วย