กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--KTAM
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกกรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ 103 ( KTFF103 ) เสนอขาย วันที่ 29มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2559 อายุ 3 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศทั้ง100%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งประกอบด้วย เงินฝากประจำ Bank of china (Macau) , China Construcytion Bank (Asia) Corp.Ltd , Agricultural Bank of CHINA , Union National Bank PJSC และ First Gulf Bank PJSC ผลตอบแทนประมาณ 1.40% ต่อปี เป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการล็อคผลตอบแทนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ และบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ Brexit ทำให้เกิดการคาดการณ์ถึงมาตรการต่างๆของธนาคารกลางหลักๆ โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พร้อมที่จะออกนโยบายแทรกแซงค่าเงินเยน หากมีการแข็งค่ามากเกินไป ในขณะเดียวกันตลาด ก็มีการคาดว่า Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมถึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพ และความมั่นใจให้กับตลาดหลังเกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างมาก
เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณ์ Brexit เนื่องจากสัดส่วนการค้าที่ค่อนข้างจำกัด ผลกระทบหลักจะไปอยู่ในภาคส่งออกบางส่วนเท่านั้น และประเทศไทยมี Current account ที่สูงมาก ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ส่วนอัตราดอกเบี้ยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงอยู่ที่ 1.50%
บลจ.กรุงไทยคาดว่า ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบทางอ้อม ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและอังกฤษ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากทั้งตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุน โดยระยะสั้นสินทรัพย์ปลอดภัยจะสามารถช่วยลดผลกระทบได้
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุตามแรงซื้อกลับของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามความกังวลจากความไม่แน่นอนหลังการลงประชามติถอนตัวออกจาก EU ของ UK (Brexit)ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม จากความคาดหวังที่ว่าเศรษฐกิจในประเทศยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี โดยในส่วนของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นยอดขายสุทธิจำนวน 191 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องจาก Brexit ต่อตลาดการเงินทั่วโลก ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนตามกระแส Risk off จากความไม่แน่นอนของตลาดการเงินหลังการลงประชามติถอนตัวออกจาก EU ของ UK (Brexit) โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 6 bps มาอยู่ที่ 0.64% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps. มาอยู่ที่ 1.08% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps.มาอยู่ที่ 1.57% ต่อปี