กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
หัวหมาก กทม.มีข่าวจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่า ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัยเอแบค-เคเอสซี อินเตอร์เนตโพลล์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตุลาการ ตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่มกราคม พ.ศ.2544 ถึง มกราคม 2549 โดย พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ผู้พิพากษาสมทบใหม่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ในปี พ.ศ.2544 นี้ทั้ง 45 ท่าน ได้ประชุมกันแล้วเลือกตั้งให้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน เป็นประธานผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ.2549 มีท่านอธึก อัศวานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 1 ท่านปราโมทย์ พงษ์ทอง เป็นรองประธานคนที่ 2 ท่านชนิดา สุวรรณจูฑะ เป็นเหรัญญิก ท่านวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ เป็นเลขานุการ ท่านสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ท่านวิรัช อมตกุลชัย เป็นกรรมการกลาง ดร.เพียรชัย นิลสุวรรณากุล เป็นกรรมการกลาง และพลเรือโท ณัฐพล ชนไมตรี เป็นกรรมการกลาง
ข่าวแจ้งว่า ดร.ศรีศักดิ์ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เพราะทำให้ได้มีโอกาสทำตามเจตรารมย์ของเจ้าคุณพ่อคือ พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) ซึ่งอยากให้ ดร.ศรีศักดิ์ ทำงานด้านนิติศาสตร์ แต่ ดร.ศรีศักดิ์ ตามเพื่อนไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์แล้วไปได้ดีทางคอมพิวเตอร์คือ ไปจบปริญญาเอกคอมพิวเตอร์ ไปเป็นผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยมิซซูรี่ในสหรัฐอเมริกา ไปเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เต็มขั้นในอเมริกาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค แล้วได้รับคัดเลือกตั้งเป็นบุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเชียเมื่อ พ.ศ.2524 ได้เป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 คนแรกด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเมืองไทย เป็นนักคอมพิวเตอร์คนแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับข้าราชการคือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ตั้งแต่ พ.ศ.2539 แล้วเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2541 หลังจากอยู่ในตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเทียบเท่าปลัดกระทรวง นานถึง 11 ปี
ดร.ศรีศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคเอสซี บริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เนตในเชิงพาณิชย์รายแรกของเมืองไทย จนชื่อเคเอสซีได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ แต่ในปี พ.ศ.2544 นี้กิจการอินเตอร์เนตและดอตคอมทั้งหลายกำลังอยู่ในขาลง แบบเดียวกับตลาดหุ้นแนสแดคในอเมริกา ซึ่งดัชนีลดจากกว่า 5,200 ลงต่ำกว่า 1,900 ฉะนั้น ดร.ศรีศักดิ์ จึงได้ประกาศว่าจะลดบทบาทในกลุ่มบริษัท เคเอสซี ลงเพื่อไปทำงานด้านตุลาการ และด้านวิชาการให้มากขึ้น รอไว้อีก 2 ถึง 3 ปี เมื่อกิจการอินเตอร์เนตและดอตคอมกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ดร.ศรีศักดิ์ จึงอาจจะกลับมาเพิ่มบทบาทในด้านธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ตั้งบริษัทรอไว้อีกหลายบริษัท เช่น บริษัท เอแบค-เคเอสซี อินเตอร์เนตเอ็ดยูเคชั่น จำกัด และ บริษัท ชาร์มมิ่งมอลล์ดอตคอม จำกัด เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2544 นี้ ดร.ศรีศักดิ์ มีภาระกิจระดับนานาชาติอยู่หลายอย่าง เช่น ได้รับเลือกตั้งเป็น 1 ใน 15 กรรมการบริหารสมาคมอินเทอรเน็ต ซึ่งต้องไปประชุมต่างประเทศปีละ 3 ครั้ง ได้รับเลือกตั้งเป็น 1 ใน 8 กรรมการบริหารสมาพันธ์สมาคมประมวลผลนานาชาติ (IFIP = International Federation for Information Processing) และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานยกร่างหลักสูตรอินเทอร์เน็ตและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนประเทศไทยในอีอาเซียน (eASEAN) และมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานด้านสังคมสารสนเทศ (Shepherd of e-Society) และผู้อำนวยการโครงการด้านการศึกษาออนไลน์สำหรับอาเซียน(AseanEducatorsOnline.com) เป็นต้น
ในตำแหน่งเจ้าพนักงานตุลาการ เป็นเวลา 5 ปี พ.ศ.2544 ถึง 2549 นี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน มีหน้าที่ต้องขึ้นบัลลังก์ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้านทรัพย์สินทางปัญญาเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 1 คดี สำหรับเวลาที่เหลือก็มีงานด้านอื่นอีกมากมาย เช่น เป็นประธานสถาบันอินเตอร์เนต ประธานสำนักวิจัยเอแบค-เคเอสซี อินเตอร์เนตโพลล์ เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยอินเทอร์เน็ตและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นนายกสมาคมคอมพิวเตอร์เอซีเอ็มสาขาประเทศไทย เป็นนายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สาขาประเทศไทย และเป็นผู้ดำเนินรายการ "อินเตอร์เนต ไอ ที ทอล์ค" ที่คลื่น FM 97 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทุกวันอาทิตย์ เวลา 13.00 ถึง 14.30 น. เป็นต้น
ในภาพ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ในเครื่องแบบเต็มยศเจ้าพนักงานตุลาการ โดยสังเกตได้ด้วยอินธนูตุลาการบนบ่า ซึ่งแตกต่างจากอินธนูข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่ ดร.ศรีศักดิ์ เคยใช้เมื่อสมัยเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11--จบ--
-นห-