กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 - 27 พฤษภาคม 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,610 หน่วยตัวอย่าง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 0.8
จากการสำรวจพบว่า ตัวอย่างที่ไม่เคยพบหรือไม่มีประสบการณ์ตรง และตัวอย่างที่เคยพบเห็นหรือมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเด็กแว้น มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ 50.28 และ ร้อยละ 49.72 ตามลำดับ
เมื่อถามถึงช่องทางที่ตัวอย่างรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กแว้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กแว้นผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 86.99 รองลงมาสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 44.53 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 32.30 สื่อบุคคล ร้อยละ 14.77 วิทยุ ร้อยละ 12.48 และพบเห็นด้วยตนเอง ร้อยละ 2.82
ประเด็นความรุนแรงเกี่ยวกับปัญหาเด็กแว้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาเด็กแว้นมีความรุนแรงอยู่ในระดับค่อนข้างมาก ร้อยละ 44.22 รองลงมาระดับมากที่สุด ร้อยละ 25.26 ระดับปานกลาง ร้อยละ 22.10 ระดับค่อนข้างน้อย ร้อยละ 7.25 และระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 1.17 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.85 ซึ่งอยู่ในระดับความรุนแรงค่อนข้างมาก
เมื่อถามถึงการรับรู้เกี่ยวกับมาตรา 44 แก้ไขปัญหาเด็กแว้น ตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรา 44 ร้อยละ 64.44 และไม่ทราบ ร้อยละ 35.56 ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 86.17 รองลงมาสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 32.06 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 26.09 วิทยุ ร้อยละ 12.57 และสื่อบุคคล ร้อยละ 8.40
ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ามาตรา 44 สามารถลดปัญหาเด็กแว้นได้ ร้อยละ 82.00 และคิดว่าไม่สามารถลดปัญหาเด็กแว้นได้ ร้อยละ 18.00 โดยตัวอย่างที่คิดว่ามาตรา 44 ไม่สามารถลดปัญหาเด็กแว้นได้ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า กฎหมาย บทลงโทษเบาเกินไป เจ้าหน้าที่ยังไม่จริงจัง แก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง และครอบคลุมไม่ทั่วถึง ร้อยละ 43.48 รองลงมา เด็กไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง ดื้อรั้น ปัญหาเกิดจากครอบครัว ร้อยละ 16.89 และไม่เคารพหรือเกรงกลัวกฎหมาย ร้อยละ 10.96
เมื่อถามถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการออกกฎหมายห้ามรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กแว้นที่ได้ผลมากที่สุด ร้อยละ 62.91 รองลงมาจับแล้วไม่ให้มีการประกันตัวทันที ร้อยละ 52.86 และผู้ใดผลิตครอบครอง จำหน่าย ประกอบดัดแปลง สถาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ จำคุกระวางโทษไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 50.92
ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าสถาบันครอบครัว ควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเด็กแว้น ร้อยละ 74.94 รองลงมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 68.96 สถานศึกษา ร้อยละ 51.20 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
ร้อยละ 49.54 และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 46.54
ท้ายที่สุดตัวอย่างให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าควรมีกฎหมายบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ชัดเจน ควรมีบทลงโทษที่หนัก ตรวจการถนนตอนกลางคืน มีการปรับหรือจำคุก ยึดรถ ยึดใบขับขี่ ร้อยละ 38.83 รองลงมาแก้ไขจากปัญหาครอบครัว พ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือในการอบรม ดูแล ต้องควบคุมเด็กไม่ให้ออกมาจับกลุ่ม ร้อยละ 17.32 และควรมีการอบรม ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่เด็กและผู้ปกครองหากิจกรรมให้เด็กทำ เช่น การเข้าค่าย ร้อยละ 12.01
เมื่อพิจารณาข้อมูลทั่วไป พบว่า ตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 57.91 เพศชาย ร้อยละ 40.51 และเพศทางเลือก
ร้อยละ 0.47 ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 36 – 45 ปี ร้อยละ 21.00 อายุระหว่างรองลงมา 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.20
อายุระหว่าง 46 – 60 ปี ร้อยละ 19.76 18 – 25 ปี ร้อยละ 19.62 และ มากกว่า 60 ปี ร้อยละ 19.34
ตัวอย่างส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 52.65 รองลงมามีสถานภาพโสด 35.88 และหม้าย/หย่าร้าง/แยกกัน ร้อยละ 8.42 ซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี/เทียบเท่า ร้อยละ 29.40 รองลงมาระดับมัธยมศึกษา/เทียบเท่า ร้อยละ 27.24 ระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 20.92 ระดับอนุปริญญา/เทียบเท่า ร้อยละ 14.88 สูงกว่าระดับปริญญาตรี/เทียบเท่า ร้อยละ 5.15
ตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 25.38 รองลงมาเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.51 พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 14.24 พนักงานเอกชน ร้อยละ 13.77 เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 11.58 ผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 11.14 และนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.62
ตัวอย่างส่วนใหญ่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 36.08 รองลงมาระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 29.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 14.71 รายได้ระหว่าง 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 10.84 รายได้ระหว่าง 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 4.41 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 2.19