กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--คิธ แอนด์ คิน
กทพ. จับมือ บีอีเอ็ม เตรียมพร้อมเปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ภายในสิงหาคมนี้ ช่วยแก้ปัญหาจราจร ขยายความสุขในการเดินทางไปฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างมากกว่า 98%
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารในรูปแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) มีความคืบหน้ากว่า 98 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในปลายปี 2559 เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะช่วยขยายศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดที่ประชาชนฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กม. เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่เจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2
ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถแต่ละประเภท ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท / รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท และ รถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 115 บาท
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่าทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นการขยายความเจริญ และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรไปสู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งจะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการเฉลี่ยประมาณ 97,000 เที่ยวต่อวัน
"การเปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-ศรีรัชวงแหวนรอบนอกฯ ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นความสำเร็จของทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาจราจร โดยบริษัทได้ว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่ง ขนาดใหญ่ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ นี้ จึงทำให้การก่อสร้างโครงการฯ มีความก้าวหน้าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่นำมาใช้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดทั้งต่อปัญหาการจราจรพื้นล่างและปัญหาสิ่งแวดล้อม และขณะนี้ บริษัท ได้อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดงานโยธา งานติดตั้งระบบควบคุมทางพิเศษ ระบบไฟฟ้า รวมทั้งจัดอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับการเปิดบริการในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อส่งมอบบริการที่ประทับใจและมีความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ" นางพเยาว์กล่าว.