กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดงานเสวนา "มาตรการภาคธุรกิจ ต้านทุจริตการติดสินบน" ในวันศุกร์ที่ 1กรกฎาคม 2559 เวลา 09.00 - 16.00 น. ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ในเรื่องความรับผิดของนิติบุคคล และบทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันการให้สินบน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กับนิติบุคคลในการกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับกฎหมายของ ป.ป.ช. โดยจะรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างคู่มือฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ภายในงานเสวนาฯ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และหลังจากนั้น 09.20 น. เป็นต้นไป จะเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ โดยได้รับเกียรติจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อด้วย การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หัวข้อ "มุมมองต่อกฎหมายและมาตรการของ ป.ป.ช. ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคเอกชน" โดยนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ศาสตราจารย์ ดร. ภักดี โพธิศิริ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการทุจริตฯ และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ประสบการณ์จาก OECD ถึงภาคเอกชนไทย" โดย Mrs. Christine Uriarte General Counsel, OECD Anti-Corruption Division
และในช่วงบ่ายมีการบรรยายหัวข้อ "ร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฯ และร่างคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 123/5" โดย นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ นายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ นางสาวอพาลินทุ์ ลิ้มธเนศกุล หัวหน้าศูนย์ประสานงานคดีระหว่างประเทศ สำนักการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. และนางสาวพัสสา วโรตมะวิชญ หัวหน้ากลุ่มวิชาการต่างประเทศ สำนักการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช.
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศประมาณ 300 คน