กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นำคณะผู้แทน ป.ป.ช. พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงาน ป.ป.ท. เข้าร่วมการประชุม Implementation Review Group สมัยที่ 7 (The 7th Session of Implementation Review Group of UNCAC) ระหว่างวันที่ 20 – 25 มิถุนายน 2559 ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรียซึ่งเป็นการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ การประเมินติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC)
การประชุมฯ ในสมัยที่ 7 นี้ เป็นการสรุปผลการประเมินติดตามฯ ของรัฐภาคีในรอบที่ 1 (Cycle 1) ซึ่งเป็นการประเมินการปฏิบัติตามหมวดที่ 3 การกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย (Criminalization and Law Enforcement) และหมวดที่ 4 ความร่วมมือระหว่างประเทศ (International cooperation) และเป็นการเตรียมความพร้อมรัฐภาคีในการเข้าสู่การประเมินฯ รอบที่ 2 (Cycle 2) ซึ่งเป็นการประเมินการปฏิบัติตามหมวดที่ 2 มาตรการป้องกัน (Preventive Measures) และหมวดที่ 5 การติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery) ของอนุสัญญาฯ
นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2559 พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำคณะผู้แทน ป.ป.ช. ประกอบด้วย นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ สำนักการต่างประเทศ เข้าประชุมหารือข้อราชการ High- Level Meeting กับ Mr. Yury Fedotov UNODC Executive Director ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยเป็นการหารือข้อราชการ เพื่อการส่งเสริมและสานต่อความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งอยู่ระหว่างการถูกประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC โดยประเทศบาห์เรนและประเทศเนปาล ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการทุจริตให้มีความก้าวหน้า อย่างมากในหลายประการ เช่น การกำหนดความผิดการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคล การมิให้นับระยะเวลาผู้กระทำความผิดฐานทุจริตหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และนำหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่ามาใช้ในการริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทำความผิดทุจริต เป็นต้นซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งประกาศเจตจำนง (Political Will) ในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดำเนินการทั้งในด้านการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตอย่างเร่งด่วน