กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
"ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ระบบเศรษฐกิจของไทยจึงมีขนาดเล็ก จึงเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงสำหรับคนต่างประเทศว่า ไทยจะมีโมเดลที่สำคัญอย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทย ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกในการนำเอาหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศจนประสบความสำเร็จ มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งในกรณีของการประยุกต์ใช้ในองค์กรต่าง ๆ เช่น เอสซีจี หรือการพัฒนาพื้นดินที่แห้งแล้งที่แทบไม่มีใครใช้ประโยชน์จากตรงนั้นให้กลับมาเป็นผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ที่เขาหินซ้อน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกประทับใจมาก ประเทศอื่น ๆ จะต้องเรียนรู้จากประเทศไทย" ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน ประเทศออสเตรเลีย และบรรณาธิการร่วมของหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน" กล่าว
หนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน (Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world)" ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2559 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ และ ศาสตราจารย์ ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ เป็นบรรณาธิการ และได้มีการเปิดตัวหนังสือเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาในการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง "ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน" โดยหนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นแนวทางในการนำพาประเทศไทยให้ข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทวีปเอเชียที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 และหลายภาคส่วนในสังคมไทยได้น้อมนำหลักปรัชญานี้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ซึ่งภายในหนังสือประกอบด้วยมุมมองจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญชาวไทยจำนวน 20 ท่านเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิดของความพอเพียงเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และองค์กรขนาดต่าง ๆ
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" ว่า หนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" สะท้อนถึงประสิทธิภาพในเชิงวิทยาศาสตร์ของหลักแนวคิดของความพอเพียง โดยได้มีการรวบรวมกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่พิสูจน์ความสำเร็จของการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในทุกภาคส่วน ทั้งในระดับบุคคล ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อาทิ ภาคธุรกิจ การศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร เป็นต้น ซึ่งการตีพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายในขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศถึงเจตจำนงระดับสากลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของเราที่ต้องการแบ่งปันองค์ความรู้นี้สู่โลกภายนอก เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ กล่าวถึงที่มาของการจัดทำหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" ว่า "ได้มีโอกาสเข้าฟังการนำเสนอผลงานของนักวิจัยไทยที่ได้พูดถึงการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับภาคการศึกษาของไทย รวมถึงธุรกิจในไทยจำนวนมาก และประสบความสำเร็จ รู้สึกประทับใจกับงานวิจัยชุดนั้นและเห็นว่า ควรนำเสนองานวิจัยดังกล่าวให้สังคมโลกได้รับรู้ จึงเป็นเรื่องที่ดีและน่าภาคภูมิใจมากที่เราทั้งสอง (ศ. ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และ ศ.ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์) ได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ เพราะเราอยากให้ประเทศอื่น ๆ ได้เรียนรู้จากประเทศไทยที่เป็นต้นแบบของความสำเร็จตามแบบอย่างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่โลก และหากเราใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือความสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดที่อาจยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือวัฒนธรรมดั้งเดิม นำไปสู่ความสมดุลที่ยั่งยืน"
ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และหนึ่งในผู้วิจัยในหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" กล่าวว่า "แนวคิดของความพอเพียง เกิดจากการผสมผสานระหว่างคุณธรรมและปัญญา เพื่อให้บุคคล องค์กร และสังคมเกิดการเปลี่ยนแนวคิดแบบใหม่ ให้มีตัดสินใจที่ชาญฉลาด มีเหตุมีผล และเกิดการกระทำที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี คือ การมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง มีภูมิคุ้มกันในการฟันฝ่าอุปสรรค มีความสามารถในการเผชิญปัญหาและการปรับตัวตามสถานการณ์ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ในหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" ได้รวบรวมผลงานเชิงประจักษ์ว่าแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ผลจริง ก่อให้เกิดการพัฒนาและความสำเร็จที่ยั่งยืนในแต่ละภาคส่วน อาทิ เกษตรกรรม ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ ทัณฑสถาน การพัฒนาชุมชน การจัดการทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และที่สำคัญคือการศึกษา เพราะการศึกษาคือการสร้างคนขึ้นมา คืออนาคตของชาติ เราดำเนินการส่วนนี้ผ่านการจัดตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อพัฒนาโรงเรียนทั่วประเทศให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง ผลจากการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการบ่มเพาะด้วยแนวคิดของความพอเพียงจะมีจิตสาธารณะ มีวินัย มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีแนวคิดอยู่อย่างพอเพียง คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ทำให้เป็นคนที่ไม่เพียงแต่เก่งวิชาการ แต่ยังมีความสุขและมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย"
รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา และหนึ่งในผู้วิจัยในหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง" กล่าวว่า "หลายคนอาจสงสัยว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้ได้กับภาคธุรกิจจริงหรือ จะไม่ทำให้ธุรกิจย่ำอยู่กับที่และไม่เติบโตหรือเปล่า จากการที่เราได้ทำงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2546 ได้พบคำตอบพร้อมผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนแล้วว่า หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมให้ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก เช่น บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ สามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน สร้างผลกำไรที่เป็นธรรม และมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ บทสรุปของงานวิจัยตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน พิสูจน์ให้เห็นว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยล้วนปฏิบัติตามหลักการภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด คนที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ คนที่มีความคลางแคลงสงสัยว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ และหากจะนำไปใช้ จะต้องทำอย่างไร"
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารสนเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดทำเป็นหนังสือเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้รวบรวมข้อมูลของผลที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาฯ ในทุกสาขา ไม่เฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งในขณะนี้ถ้าเราติดตามข่าว นานาประเทศในโลกนี้ก็กำลังเผชิญสิ่งท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขจัดความยากจน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยพิบัติ สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่นานาประเทศกำลังจะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ หนังสือเล่มนี้จะให้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงการนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ และจะช่วยตอบโจทย์เรื่องวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะประเทศในตะวันตกที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะหนังสือเล่มนี้รวบรวมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากการบริหารจัดการขององค์กรต่าง ๆ ทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทย นี่น่าจะเป็นแนวทางให้บริษัทในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตะวันตกสามารถประยุกต์ใช้ว่าจะบริหารจัดการธุรกิจของตนอย่างไรให้มีความยั่งยืน อย่างไร หนังสือแนวคิดของความพอเพียงจึงเป็นหนังสือที่จะสร้างความสนใจจากทุกภาคส่วน และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล"
"สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากหลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้ง 4 มิติที่หนังสือแนวคิดของความพอเพียงได้มอบให้กับผู้อ่านแล้ว 'ของขวัญ' ที่หนังสือเล่มนี้ตั้งใจมอบให้คนทั่วโลกก็คือ "วิธีคิดและวิธีการ" เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเราต้องกล้า "เปลี่ยน" วิธีคิดของเรา ทำอะไรต้องไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป ต้องมีเหตุมีผลอยู่บนหลักวิชาการ มีความไม่ประมาท สุดท้ายแล้วความรู้และคุณธรรมจะกลายเป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน" ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา กล่าวสรุป
หนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน (Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world)" มีจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมwww.instituteforsustainableleadership.com