กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 สมาคม ยืนยันการนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล (Distillers Dried Grains with Solubles หรือ DDGS) เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้เนื่องจากผลผลิตในประเทศขาดแคลน และไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำ
สมาชิกจากสมาพันธ์ดังกล่าว ร่วมกันแถลงข่าว "ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์" เพื่อชี้แจงสถานการณ์อาหารสัตว์ในประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวโพดที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าทดแทนปริมาณที่ขาดแคลน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลี และกากข้าวโพด เอทานอล (DDGS) เพื่อทดแทนผลผลิตข้าวโพดขาดแคลนในประเทศที่ผลิตได้เพียง 4.5-4.6 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 7.8-7.9 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังคงซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรตามนโยบายพยุงราคาของกระทรวงพาณิชย์ในราคาเฉลี่ยประมาณ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งการนำเข้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาตกต่ำวัตถุดิบในประเทศ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือปลายข้าว
ตามที่ก่อนหน้านี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดและกากข้าวโพด DDGS ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบภายในประเทศและขอให้รัฐบาลพิจารณาระงับการนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งในเรื่องราคาและผลผลิต
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับการเป็นครัวของโลกของไทยตามนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยมีมูลค่ากว่า 750,000 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทในอนาคต หากดูจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7.2% จะทำให้ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์ในปี 2559 อยู่ที่ 18.63 ล้านตัน แต่การเติบโตของการผลิตวัตถุดิบหลักมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตไม่ทันต่อความต้องการใช้ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% เท่านั้น
ทั้งนี้ การเติบโตที่ไม่สอดคล้องกันเช่นนี้ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหาวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์มีราคาไม่สูงจนเกินไปและยังคงรักษาความสามารถการแข่งขันในต่างประเทศได้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น
"อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันว่าวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอต่อการใช้จริงๆ จึงต้องนำเข้า ไม่ใช่อยากใช้ของต่างประเทศหรือละเลยพี่น้องเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ต้องการนำเข้าเกินกว่าความเป็นจริง เพราะจะเกิดต้นทุนในการเก็บรักษา" นายพรศิลป์ กล่าว
นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานและรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ด้านราคาผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังคงซื้อที่ราคา 8-9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนเกษตรกรพอสมควร ขณะที่มันสำปะหลังหัวมันสดราคาเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไป นับเป็นราคาที่สูง ส่วนราคามันเส้นส่งออกที่ตกต่ำลงนั้นก็เป็นผลมาจากตลาดใหญ่ คือจีนลดการนำเข้า ความต้องการใช้มันเส้นในการผลิตอาหารสัตว์ของไทยประมาณ 1 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
ที่ผ่านมา การกำหนดนโยบายการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการพยุงราคาสินค้าเกษตรของภาครัฐประกอบกับนโยบายการค้าของต่างประเทศ ล้วนมีผลต่อการกลไกตลาดในดำเนินธุรกิจโดยรวมของประเทศทั้งหมด ปัจจุบันไทยมีการปล่อยให้ส่งออกเสรี แต่ควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาหาร หากยิ่งมีการจำกัดทางเลือกในการใช้วัตถุดิบทดแทนจะก่อให้เกิดความเสียหายกับภาคปศุสัตว์ไทย และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทำให้ไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนกับต่างประเทศได้ ท้ายสุดจะย้อนกลับมากระทบกับธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ที่จะไม่สามารถเดินหน้ากิจการและฟาร์มต่อไปได้
นายพรศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงกลุ่มสมาคมมันสำปะหลัง สมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าพืชไร่ มีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวทางสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยินดีที่จะมีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดวัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจรขึ้น เพื่อช่วยกำกับดูแลให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารของประเทศสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกด้วยแล้ว
"ขอย้ำว่าทุกคนอยู่ในจุดเดียวกัน จะเติบโตหรือล้มหายตายจากก็ต้องไปด้วยกัน สมาคมอาหารสัตว์ฯ ไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้เกษตรกรเสียหาย มีแต่จะผลักดันทำให้เกษตรกรเก่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนลง ซึ่งที่สุดแล้วก็จะช่วยสร้างการเติบโตให้ส่วนของอาหารสัตว์ที่เป็นปลายทางการผลิตนั่นเอง" นายพรศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย