กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--มรภ.สงขลา
การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านปลายระไม หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีคนไทยพำนักอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศมาเลเซีย ราว 800 คน หมู่บ้านวิถีพุทธที่ยังคงไว้ซึ่งภาษาใต้และวัฒนธรรมดั้งเดิม ถือเป็นการเดินทางที่เปี่ยมด้วยความประทับใจที่ชาวสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จะไม่มีวันลืม
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม นำโดย ผอ.โอภาส อิสโม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับเทียบเชิญจากสมาคมวัฒนธรรมไทยรัฐเคดาห์ เดินทางไปให้ความรู้ในโครงการสืบสานวัฒนธรรมไทย (อบรมมโนราห์เชิงปฏิบัติ) ณ วัดวิสุทธิประดิษฐาราม (วัดปลายระไม) รัฐเคดาห์ ให้แก่เด็กและเยาวชนจากรัฐต่างๆ ทั่วประเทศมาเลเซีย ที่สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 80 คน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 40 คน การไปครั้งนี้ของ มรภ.สงขลา ถือเป็นการทุบกำแพงการปิดกั้นทางวัฒนธรรม พี่น้องคนไทยที่นั่นบอกกันปากต่อปากว่าจะมีพี่น้องชาวสยามไปเยี่ยม พวกเขาดีใจมาก ตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืนของการจัดอบรม ผู้เข้าอบรมทุกคนตั้งใจฝึกฝนเต็มที่ โดยมีนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและผู้ช่วยวิทยากร ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานท่ารำมโนราห์ จนผู้อบรมสามารถขึ้นเวทีทำการแสดงได้อย่างสวยงาม และในช่วงกลางคืน มรภ.สงขลา ได้จัดการแสดงมากมายทั้ง หนังตะลุง มโนราห์ ระบำต่างๆ ให้คนไทยในมาเลเซียได้รับชม ได้รับความสนใจจากผู้ชมจนแทบล้นพื้นที่ ทุกคนต่างมีความสุข เนื่องจากนานๆ ครั้งจะได้ชมการแสดงของไทย
"การไปครั้งนี้เราไปด้วยใจ ไปอย่างมีคุณค่า เมื่อไปแล้วหัวใจพองโต เพราะเราได้ทำให้คนไทยที่นั่นมีความสุข เขาพูดทั้งน้ำตาว่าเหมือนโดนทอดทิ้ง ขาดการเหลียวแล การไปของราทำให้เขารู้สึกได้รับการเติมเต็ม ดังนั้น ในวันเดินทางกลับจึงเกิดภาพความประทับใจ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มายืนรอส่งที่รถ หลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ถึงแม้เวลาที่ได้อยู่ร่วมกันจะแค่ไม่กี่วัน แต่คงเป็นเพราะเราคือคนไทยที่ถูกกั้นไว้ด้วยเขตแดน แต่หัวใจของความเป็นไทยนั้นเป็นสีเดียวกัน คือสีแห่งความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ กล่าวและว่า
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในครั้งนี้แล้ว สำนักศิลปะฯ มีแผนที่จะตั้งงบประมาณสำหรับเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่ประเทศมาเลเซีย โดยได้รับการทาบทามจากสมาคมวัฒนธรรมไทยรัฐปะลิส (Perlis) จัดกิจกรรมอบรมมโนราห์ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งในฐานะที่สำนักศิลปะฯ มีปรัชญาในการมุ่งส่งเสริม สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ จึงไม่ลังเลที่จะสานต่อกิจกรรมต่อไปในอนาคต เนื่องจากเห็นถึงความตั้งใจจริงของเด็กและเยาวชนไทยในประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการสืบทอดวัฒนธรรมไทย แต่ขาดการหยิบยื่นความรู้เท่านั้นเอง
ขณะที่ สมมาส ห่อคำ "ปอ" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นาฏยรังสรรค์ กล่าวว่า ภูมิใจมากที่ได้ร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งแม้คนไทยในมาเลเซียจะคุ้นเคยกับมโนราห์อยู่แล้ว แต่ก็เป็นมโนราห์แบบโบราณแทบไม่มีการแสดงอื่นๆ เลย ตนและเพื่อนๆ นักศึกษาจึงสอนผู้เข้าอบรมให้รู้จักการรำมโนราห์แบบไทย และคัดเลือกผู้ที่รำได้สวยงามไปโชว์บนเวทีร่วมกับพี่ๆ สร้างความประทับใจให้แก่ทุกคนที่ได้ชมอย่างมาก
นวลจันทร์ หนูพรหม "โนรากลอยใจ" นักศึกษาที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ตอนแรกน้องๆ คงเขินอายไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก จนมาถึงช่วงชมการแสดงภาคกลางคืนเมื่อได้เห็นมโนราห์เมืองไทย ต่างชอบใจในมุกตลก ชวนเย้าหยอก เริ่มสนิทกันมากขึ้น ในคืนแรกของการแสดงมีการทำบท ว่ากลอนสด มีหนังตะลุง ซึ่งเห็นได้ว่าพี่น้องชาวมาเลย์ให้ความสนใจศิลปะภาคใต้ไม่น้อย วันต่อมาจึงเป็นการอบรมมโนราห์อย่างจริงจัง โดยมี ผอ.โอภาส เป็นผู้นำ และทีมนักแสดงช่วยดูแล ให้คำแนะนำน้องๆ อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เมื่อน้องๆ เรียนมโนราห์เสร็จแล้วก็อยู่ชมการแสดงของพี่ๆ ในกลางคืน ซึ่งสำนักศิลปะฯ จัดการแสดงให้ชมทุกค่ำคืน
ส่วน ธีระยุทธ แก้วดี "กอล์ฟ" กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ตนและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสถ่ายทอดทักษะทางมโนราห์และให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม ขณะเดียวกันพวกตนก็ได้รับความอบอุ่น เป็นกันเองและความผูกพันจากพี่น้องคนไทยที่นั่น ถือเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่นำการแสดงที่มีคุณค่าของภาคใต้ไปเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน และภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ได้ถ่ายทอดการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม สัญญาว่าตนจะเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมและสิ่งที่ดีงามถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้คงไว้ตลอดกาล
กิตติภพ แก้วย้อย "แมค" กล่าวบ้างว่า นอกจากการอบรมมโนราห์แล้วยังมีการสอนออกพราน ได้รับการตอบรับจากเด็กๆ ดีมาก เด็กๆ ให้ความสนใจและร่วมมืออย่างดี มีพัฒนาการเร็ว ด้วยเวลาแค่ 3 วันแต่ก็สามารถทำได้ นอกจากการอบรมแล้วกลางคืนยังมีการจัดการแสดงจากพี่ๆ มีการแสดงสี่ภาค การแสดงมโนราห์ หนังตะลุง ผลตอบรับจากพี่น้องชาวไทยดีมาก คนหนาแน่นทุกคืน
"พวกเราดีใจมากที่ได้ไปในครั้งนี้ ด้วยภารกิจเผยแพร่วัฒนธรรมสู่ต่างประเทศ เหมือนการได้ช่วยชาติอย่างหนึ่ง ได้มอบความสุขแก่พี่น้องของเราในประเทศมาเลเซีย สำคัญที่สุดคือคุณค่าที่เราได้รับ การไปครั้งนี้เราไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าคือค่าตอบแทนจากคนหน้าเวทีที่คอยเป็นกำลังใจให้อย่างหนาแน่นทุกคืน พี่น้องคนไทยที่มาเลย์น่ารักมาก ดูแลเราอย่างดีเหมือนลูกเหมือนหลาน ทำให้เห็นว่าไทยถึงจะอยู่กันคนละแดน แต่ความมีน้ำใจ ความรัก ความเอื้อเฟื้อและไมตรีจิตที่มีต่อกัน ยังมีให้กันอย่างจริงใจเสมอ" กิตติภพ กล่าวอย่างประทับใจ
ด้านตัวแทนผู้เข้าอบรมจากรัฐปะลิส กล่าวว่า ดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ตนไม่มีพื้นฐานการรำมโนราห์มาก่อนเลย ดังนั้น จึงรู้สึกดีใจมากที่พี่ๆ คนเก่งมาถ่ายทอดความรู้ในการรำมโนราห์ และอยากให้สำนักศิลปะฯ จัดโครงการดีๆ แบบนี้อีกทุกๆ ปี
เสียงร่ำไห้ด้วยความอาลัย รอยยิ้มที่ออกมาจากใจ แทนความรู้สึกรักและผูกพันได้ดียิ่งกว่าถ้อยคำใดๆ แต่อีกไม่นานชาว มรภ.สงขลา จะนำวัฒนธรรมไปโอบกอดพี่น้องคนไทยในมาเลเซียอีกครั้ง ตราบเท่าที่ศรัทธายังเบ่งบานในหัวใจของทุกคน