กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กสท โทรคมนาคม
เมื่อวันที่ 16 -17 มิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พร้อมหารือการยกระดับ Connectivity ระหว่างไทยและอินเดียในภาพรวมสอดคล้องรองรับยุทธศาสตร์การยกระดับโครงข่าย ICT ของประเทศไทย ทั้งเส้นทางคมนาคม โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ "ASEAN Digital Hub" โดยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของสองประเทศ CAT และ ทาทา คอมมิวนิเคขั่นส์ ในการลงนาม MOU พัฒนาโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งได้ร่วมในคณะเยือนประเทศอินเดียครั้งนี้ เปิดเผยว่า วันนี้ (17 มิ.ย.59) นายกรัฐมนตรีและคณะได้พบปะหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงในเครือบริษัททาทากรุ๊ป นำโดย นายมาทุ คานนัน ประธานกลุ่มด้านพัฒนาธุรกิจ นายคริสโตเฟอร์ อัลเมดา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านไอซีทีเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากประเทศอินเดียมีอุตสาหกรรมไอซีทีและดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าสูง รวมทั้งรัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยประเทศอินเดียได้มีนโยบาย Digital India จึงนับเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการร่วมมือกับนโยบาย Digital Thailand ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การยกระดับการเชื่อมต่อของระบบโทรคมนาคมผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ การพัฒนา Smart City ที่อินเดียประกาศสร้าง 100 เมือง Smart City ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีและดิจิทัล เป็นต้น
ทั้งนี้ การเจรจาความร่วมมือได้เน้นยกระดับการสร้าง Connectivity เชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียในภาพรวมที่ครอบคลุมทั้งเส้นทางคมนาคม และโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ "ASEAN Digital Hub" ซึ่งภาพรวมของการเชื่อมโยง Connectivity ในทุกมิติดังกล่าวจะส่งเสริมทั้งด้านการค้าการลงทุน e-Commerce การท่องเที่ยว ฯลฯ อันสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์การยกระดับโครงข่าย ICT ของประเทศไทย
ภายหลังจากการหารือ นายกรัฐมนตรีและคณะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของอินเดีย ที่มีฐานการให้บริการอยู่ในหลายประเทศทุกภูมิภาค ของโลก โดยทั้งสองบริษัทจะร่วมกันศึกษาแนวการลงทุนพัฒนาโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของ CAT เชื่อมต่อกับโครงข่ายของทาทาคอมฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำขนาดใหญ่ทันสมัยระดับ Tier-1 IP Network เชื่อมต่อ 400 จุดในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยความร่วมมือดังกล่าวสอดรับกับแผนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศที่มีความสำคัญเพื่อรองรับให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและการสื่อสารของไทย โดยจากการคาดการณ์ของ CAT ได้ประเมินการใช้งานข้อมูลของคนไทยใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 3 เทราไบท์เป็น 15 -20 เทราไบต์ หรือเพิ่มประมาณ 6 เท่า
"การยกระดับบริการโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน บริหารเครือข่าย และการใช้งานนั้น มีเป้าหมายเพื่อสามารถให้บริการกับภาคธุรกิจไทย รวมไปถึงธุรกิจของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่สามารถจะเชื่อมโยงใช้บริการด้านดิจิทัลผ่านประเทศไทยได้แบบครบวงจร ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับการแข่งขันของตลาดและเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย ต่างเร่งเตรียมความพร้อมด้านการแข่งขันในช่วงของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เช่นกัน
ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ประกาศความพร้อมในการเป็น "ASEAN Digital Hub" เพื่อนำความแข็งแกร่งในทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งและศักยภาพในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของไทยมาเป็นปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สนับสนุนการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้ไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยการเป็นศูนย์กลางข้อมูลอาเซียน (ASEAN Digital Hub) จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพด้านโครงข่ายพื้นฐานระหว่างประเทศ (Hard Infrastructure) เป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งประเทศไทยจะเพิ่มโอกาสดังกล่าวมากยิ่งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง CAT กับทาทาคอมฯ ครั้งนี้" ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติม
อนึ่ง บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ภายใต้เครือทาทากรุ๊ป ถือเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ มีบริการที่หลากหลายทั้งบริการด้านเครือข่ายสื่อสัญญาณ บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการด้านข้อมูลแก่ลูกค้าในประเทศอินเดียและทั่วโลก รวมทั้งยังมี Tier-1 IP Network ซึ่งเป็นเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำขนาดใหญ่ และทันสมัยโดยเชื่อมต่อ 400 จุดในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งในอินเดียและทั่วโลก