กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กรมป่าไม้
จังหวัดน่าน เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาทรัพยากรป่าไม้อย่างหนัก มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากป่า ภูเขา ที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ทำให้พื้นที่ป่าของน่านที่มีกว่า 6 ล้านไร่ แต่ตอนนี้เหลือเพียง 4.6 ล้านไร่ ซึ่งร้อยละ 85 เป็นการบุกรุกเพื่อทำพื้นที่เกษตร เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศป่าไม้รวมถึงแม่น้ำลำธารอย่างรุนแรง และยังมีแนวโน้มการเข้าบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้ปฏิบัติตามนโยบายในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่า เน้นเป้าหมายที่กลุ่มนายทุน และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพื่อคืนพื้นที่มาทำการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ ซึ่งการดำเนินการนี้ ทำให้สามารถคืนพื้นที่มาได้แล้วประมาณ 300 ไร่ ทาง ทส. จึงได้จัดงาน "พลิกฟื้นผืนป่าประชารัฐน่าน" ขึ้น เพื่อร่วมปลูกป่าชดเชยพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแบบ "วนประชารัฐ" และกำหนดมาตรการที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่าเป็น 2 ด้านในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำว้า และป่าห้วยสาลี่ อ.เวียงสา จ.น่าน ด้านแรกคือการป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ใน จ.น่าน ลดลงมากไปกว่านี้ และด้านที่สองคือการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยได้น้อมนำแนวทาง และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาใช้ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน อาทิ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ โครงการปลูกป่า3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โดยการปลูก 3 อย่างใช้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ต้นไม้ที่จะนำมาใช้เป็นอาหารได้ ต้นไม้เชื้อเพลิง และต้นไม้ใช้สอย โดยจะทำการปลูกหลากหลายชนิดกว่า 10 พันธุ์ จะแบ่งการปลูกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือการปลูกด้วยกล้าไม้ ในพื้นที่กว่า 100 ไร่ แบบที่สองเป็นพื้นที่สูงชันกว่า 200 ไร่ จะใช้วิธีโปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากชนิด โดยได้รับความร่วมมือจากชมรมนักเล่นพารามอเตอร์ จ.น่าน กว่า 40 คน ช่วยกันบินโปรยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว โดยนำดินมาหุ้มเมล็ดพันธุ์ให้มีน้ำหนัก เพื่อป้องกันเมล็ดติดคาอยู่บนต้นไม้ ดินจะผสมปุ๋ยละลายช้า (Osmocote) เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตได้ดียิงขึ้น และจะมีการปลูกถั่วมะแฮะ เพื่อปรับสภาพดินให้ดีขึ้น
"กรณีที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบระบบนิเวศ ซึ่งรูปแบบการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำจ.น่าน จะเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะนำเสนอให้เป็นแบบอย่างของพื้นที่อื่นๆ โดยรูปแบบนี้เรียกว่าวนประชารัฐ จะทำให้คนในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารสามารถอยู่ในพื้นที่ และสามารถทำเกษตรกรรมได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งบริเวณที่เป็นแปลงปลูกป่าแบบวนประชารัฐนั้น ราษฎรสามารถมาใช้ประโยชน์ เช่นเก็บผักผลไม้ พืชสมุนไพร ของป่าต่างๆ รวมถึงการปลูกพืชกินได้เพื่อเป็นแหล่งรายได้อีกหนึ่งทางของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้" รมว. ทส. กล่าว
นอกจากนี้ทาง ทส. และกรมป่าไม้ยังได้เข้าไปสนับสนุน ป่าชุมชนบ้านสบยาว หมู่ที่7 ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ที่ดำเนินตามวิถี "วนประชารัฐ" ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของ จ.น่าน และพื้นที่ใกล้เคียง ชุมชนบ้านสบยาวดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดีจึงไม่เกิดเขาหัวโล้นจากการตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกัน คนในชุมชนก็จะได้เก็บผลผลิตจากป่ามาหล่อเลี้ยง ทั้งสามารถเก็บไปยังชีพในครัวเรือน สิ่งเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างรายได้ในชุมชนตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านสบยาว ตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ประมาณ 1.50 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่น้ำน่าน เนื้อที่ 6,839 ไร่ แบ่งเป็นเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 1,839 ไร่ และพื้นที่ป่าเพื่อการใช้สอย 5,000 ไร่ ชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า และได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร ชัน และอื่นๆ ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำและปลดปล่อยน้ำสูลำห้วยในชุมชน เพื่อนำไปใช้อุปโภค บริโภค ป่าชุมชนบ้านสบยาวมีต้นเต็งเป็นไม้ประจำถิ่น ต้นเต็งจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทา แตกร่อน และเป็นสะเก็ดหนา มักตกชัน (ยางไม้) สีเหลืองขุน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นกลุ่มใหญ่ในป่าเต็งรัง ดินลูกรัง และเขาหินทราย ประโยชน์ ของไม้เต็ง สามารถนำชันจากต้นเต็งใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ใช้ยาแนวเรือ เครื่องใช้ต่างๆ เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลเรื้อรังและแผลพุพองให้สมานตัวเร็ว เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแกมแดง สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานได้ดี เช่น เสา รอด ตง ขื่อ พื้นกระดาน
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อ ต้นเต็งเป็นไม้คุ้มครองไม่สามารถตัดทั้งต้นนำไปใช้ได้ ชาวบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากการเก็บชันยางไม้จากต้นเต็งที่ขึ้นอยู่ใน ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านสามารถหาชันยางในป่าชุมชนได้ตลอดทั้งปี แต่ชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บหากันมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งใบไม้ร่วงง่ายแก่การเก็บหาและเป็น ช่วงว่างเว้นจากกาทำการเกษตร โดยจะเก็บได้วันละประมาณ 10-20 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 23-25 บาท มูลค่าการเก็บชันในชุมชนมากถึง 350,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้เสริมเพิ่มให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
"เมื่อป่ามีความสมบูรณ์ ความต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากป่าก็มีมากขึ้น จึงการการบุกรุกของคนในพื้นที่ และอีกส่วนมาจากคนนอกพื้นที่ เข้ามาตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ผู้นำชุมชนร่วมถึงคนในชุมชนตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะป่าชุมชนถือว่าเป็นป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน ถ้าเกิดป่าไม้แห้งแล้งจากการบุกรุกของคนในและนอกชุมชน ก็จะเก็บผลผลิตจากป่าไม่ได้ ผู้นำและชุมชนจึงรวมตัวต่อต้านกลุ่มต่างๆที่มาบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสบยาว หลังจากนั้นเมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับช่วงประมาณปี 2541 นั้นทางกรมป่าไม้เองมีการส่งเริมให้ชุมชนร่วมกับภาครัฐในการดูแลรักป่า ทางกรมป่าไม่เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสบยาว จึงได้ชวนเข้าร่วมจัดตั้งป่าชุมชน แต่ต้องมีผู้เห็นด้วยไม่ต่ำกว่า 50 คน และอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อรวมตัวกันจัดตั้งป่าชุมชน ปรากฏว่าคนในชุมชนเห็นถึงผลดีที่ทางกรมป่าไม้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน" อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านสบยาว ได้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามแนวทางของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นรูปแบบ "วนประชารัฐ" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และได้รับเงินอุดหนุนจากกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2558 จำนวน 147,000 บาท โดยดำเนินการ ดังนี้ 1. กิจกรรมด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ นำไปจัดทำป้ายชื่อโครงการป้ายกฎระเบียบป่าชุมชน และป้ายแนวเขตป่าชุมชน การจัดซื้อเครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ 2. กิจกรรมด้านการดูแลรักษาป่าชุมชน โดยทำเส้นทางตรวจการณ์ จัดซื้อชุดตรวจลาดตระเวนป้องกันรักษาป่าชุมชน และการจัดชุดลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า 3. กิจกรรมด้านการบำรุงและฟื้นฟูป่าชุมชน ได้แก่ การสร้างฝายชะลอความชุมชื้น การปลูกป่าเสริม เช่น การปลูกผักหวานป่า และ 4. กิจกรรมด้านการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้แก่ การบวชป่าและสืบชะตาป่าชุมชน
"กรมป่าไม้ได้นำนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือการส่งเสริมให้คนอยู่กับป่าได้ โดยมีหน่วยงานต่างๆของกรม เช่น สำนักจัดการป่าชุมชน หรือ หน่วยป้องกันต่างๆ เข้าไปดูแล ซึ้งจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านสบยาวเป็นกรณีตัวอย่างของจังหวัดน่าน ที่หากชุมชนดูแลป่าอย่างดีก็จะไม่เกิดเขาหัวโล้น แต่ในขณะเดียวกัน คนในชุมชนก็จะได้ผลผลิตจากป่ามาหล่อเลี้ยงและสามารถเก็บไปยังชีพในครัวเรือน สิ่งเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างรายได้ในชุมชนตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในอดีตตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี ชาวบ้านที่ดูแลรักษาป่าชุมชนภายใต้ขบวนการป่าชุมชน เขาไม่มีกฎหมายเฉพาะของป่าชุมชนโดยตรง ทางรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้เข้ามาเร่งรัดและผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นการปฏิรูปของรัฐบาลที่อยากส่งเสริมให้คนอยู่กับป่า โดยให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้โครงการป่าชุมชนได้ผ่าน สปท. สภาปฏิรูป เมื่อ พ.ร.บ. ป่าชุมชนสำเร็จ ผลประโยชน์ต่างๆจะเอื้ออำนวยต่อประชาชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชน ให้สามารถเก็บผลผลิตจากป่าไปใช้ในครัวเรือนได้สะดวกขึ้น และคาดว่าจะสำเร็จในปีนี้" รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
"ป่าไม้จะอยู่ได้ ถ้าเราให้ความสำคัญ ป่าไม้จะดูดี ถ้าเรามีจิตสำนึก" หากให้ป่าชุมชนนั้นคงอยู่และยั่งยืน ต้องไม่ใช่การใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน แต่เป็นการใช้ เพื่อนำผลผลิตมาลดรายจ่ายในครัวเรือน ซึ่งในส่วนนี้ต้องสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน ให้ใช้อย่างพอดี พอมี และพอเพียง ไม่เน้นผลกำไลและรายได้จากป่า บ้านสบยาวจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารคนให้มีจิตสำนึกในการพึ่งพาป่า อันจะไม่ก่อให้เกิดเขาหัวโล้นในอนาคต