กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง รัฐกับการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-18 มิถุนายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 55.7 ระบุติดตาม ทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 33.0 ระบุ ติดตามติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 8.6 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.3 ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.4 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของรัฐบาลและคสช.นั้น พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.9 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 58.2 ระบุติดตามบ้าง และมีเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้นที่ระบุไม่ได้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้เลย
ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึง การรับรู้รับทราบกรณีรัฐบาลและคสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานเรื่องน้ำทั้งระบบ พบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 76.9 ระบุทราบข่าวเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 23.1 ระบุยังไม่เคยทราบ/เพิ่งทราบ
สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการน้ำให้กับตนเองหรือชาวบ้านในหมู่บ้าน/ชุมชนของตน นับตั้งแต่มีนโยบายนี้ขึ้นมา นั้นพบว่า ร้อยละ 61.0 ระบุเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการจากอำเภอ/จังหวัด ได้เข้ามาให้ข้อมูล รองลงมาคือร้อยละ 55.9 ระบุเป็น อบต./เทศบาล ร้อยละ 45.1ระบุเจ้าหน้าที่ทหาร และร้อยละ 10.2 ระบุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่การเกษตร / กรมชลประทาน / กรมป่าไม้/สภาเกษตรกร/กำนันผู้ใหญ่บ้าน
ประเด็นที่น่าสนใจคือผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 86.9 ระบุคิดว่าประชาชนและเกษตรกรเริ่มเข้าใจในแนวทางการบริหารจัดน้ำทั้งระบบที่รัฐบาลและ คสช.กำลังดำเนินการแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 13.1 ระบุคิดว่ายังไม่เข้าใจ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 5) ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านชุมชนของตนเองได้รับจากนโยบายการบริหารจัดการน้ำนี้ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 70.5 ระบุมีการขุดลอกคูคลอง/แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ รองลงมาคือร้อยละ 66.6 ระบุมีการให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ร้อยละ 49.3 ระบุมีการขุดสระ/แหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูฝน ร้อยละ 46.3 ระบุมีการขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม และร้อยละ 4.0 ระบุอื่นๆ เช่น การซ่อมแซมฝายกั้นน้ำ ฝายชะลอน้ำ/มีรถน้ำเข้ามาบริการในหมู่บ้าน/การเดินท่อประปา
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าแกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย (ร้อยละ 92.8) เห็นว่าแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรได้จริง ในขณะที่ร้อยละ 7.2 ระบุคิดว่าช่วยไม่ได้ เพราะ ประชาชนคิดว่าไม่มีตลาดรองรับสินค้า /พืชทุกชนิดต้องการน้ำ/ประชาชนไม่มีความรู้ในการปลูกพืชอย่างอื่น/ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้เลย และ ประชาชน จะทำตามใจตัวเองปลูกอะไรก็จะปลูกอย่างนั้นไม่ยอมเปลี่ยน
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีรัฐบาลมาถูกทางแล้วหรือไม่ในการดำเนินนโยบายเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบนี้ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 90.9 ระบุคิดว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 3.9 ระบุคิดว่ายังไม่ถูกทาง และร้อยละ 5.2 ระบุ ยังไม่แน่ใจในเรื่องนี้ และเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในความคืบหน้าของการดำเนินงานตามนโยบายบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของรัฐบาลและ คสช.ในขณะนี้นั้น พบว่า แกนนำชุมขนร้อยละ 92.1 ระบุพอใจในความคืบหน้าเรื่องนี้ ในขณะที่ร้อยละ 7.9 ระบุยังไม่พอใจ
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.0 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 14.0 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.6 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 27.5 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 67.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 31.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 46.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 69.3 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 16.6 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 11.7 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 16.9 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 26.0 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 45.4 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาค พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.2 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 24.8 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 19.1 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 14.3 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ