กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--vervethailand
ดีแทค ออกแคมเปญใหญ่กระตุ้นสำนึกสังคมออนไลน์ "ใช้หัวคลิก" หยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ ชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไปพร้อมกับคนทั่วโลก เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (STOP Cyberbullying Day) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันศุกร์ที่สามของเดือนมิถุนายน พร้อมเผยโพลความเห็นคนไทย 80% เล่นออนไลน์แบบเอาสนุก โพสแชร์ความเห็นขำๆ ทำให้อัตราการเกิดปัญหา Cyberbullyingเพิ่มสูงขึ้น โดยภายในงานได้ คุณกวาง-มินตรา เรืองศักดิ์วิชิต ผู้ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มาร่วมแสดงความคิดเห็นและมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์เรื่องนี้ด้วย
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า "ปณิธานที่แน่วแน่ของดีแทค" คือ การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Business) ที่ขณะนี้กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัล (Digital Society) อย่างเต็มตัว ภายใต้โครงการ Safe Internet ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เท่าทัน การเสริมสร้างทักษะ การสร้างจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่นานาประเทศให้ความสำคัญ จนได้ร่วมกันจัดตั้งวันต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (STOP Cyberbullying Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้ดีแทค เริ่มเดินหน้าทำโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาดีแทคได้เน้นเรื่องของการให้ความรู้เป็นหลัก แต่แค่ความรู้คงไม่เท่าการกระทำ ในปีนี้จึงได้จัดแคมเปญรณรงค์ภายใต้ชื่อ "ใช้หัวคลิก" รณรงค์เพื่อหยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยในโลกออนไลน์ลุกขึ้นมาแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านปัญหานี้ด้วยกัน ดีเดย์เริ่มแสดงพลังในวัน STOP Cyberbullying Day นี้"
ทั้งนี้ ดีแทค ยังได้ข้อมูลที่ทำให้เห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นคือผลสำรวจคนไทยบนโลกออนไลน์ โดยได้ร่วมกับ จส.100 จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของคนออนไลน์จำนวนกว่า 34,000 คน พบตัวเลขและความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้ง บนโลกออนไลน์ที่น่าสนใจว่า
· 80% รู้ว่ามีการ Cyberbullying และมองว่าปัญหานี้รุนแรงต่อสังคม
· 55% เห็นการทำ Cyberbullying ในรูปแบบแอบถ่ายรูปคนอื่นแล้วนำไปโพสต์เม้าท์กับเพื่อน รองลงมาคือ 19% เอารูปไปตัดต่อล้อเลียน และ 15% ถูกสวมรอยสร้างโปรไฟล์ปลอม
· 54% เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Cyberbullying ด้วยการโพสต์แกล้งเพื่อนขำๆ รองลงมา 26% รู้สึกว่าก็แค่แสดงความคิดเห็นลงไปในรูปหรือข้อความที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเพื่อความสนุก และ 20% แชร์ช่วยสังคมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าทำลายสังคมให้แย่ลงกว่าเดิม
· 74% เรียกร้องให้สร้างจิตสำนึกในสังคมออนไลน์ เพื่อลดปัญหา Cyberbullying รองลงมา 26% หยุดโพสต์ หยุดแชร์ในเรื่องที่ไม่รู้จริง
นางสาวปารมี ทองเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานแบรนด์ คอมมูนิเคชั่น ดีแทค เผยว่า "แคมเปญ 'ใช้หัวคลิก หยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์' จะเป็นแคมเปญออนไลน์ที่เน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมในการแสดงพลังต่อต้านปัญหา CyberBullying โดยดีแทคได้จัดทำหนังสั้นภายใต้แนวคิด 'หนังสั้นที่อยากให้คนหยุดดู' เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าโลกออนไลน์มีผลต่อชีวิตใครหลายคนมากกว่าที่คุณคิด หนังสั้นเรื่องแรกที่ทำขึ้นเพื่อให้คนดูเป็นคนกำหนดตอนจบได้เอง โดยผู้กำกับมือรางวัล เต๋อ- นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ โดยนำเรื่องราวที่เกิดจากการที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องเล่นๆ หรือแม้กระทั่งหวังดี จึงดูและแชร์ไป โดยไม่คิดว่าจะมีผลร้ายอะไร แต่เรื่องที่เล็กๆ ในชีวิตจริงที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่บนโลกออนไลน์จนทำร้ายชีวิตใครสักคนได้ ซึ่งในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้อยากเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือการ 'หยุด' หยุดดู หยุดแชร์เรื่องต่างๆที่เข้าข่าย CyberBullying หยุดตอนที่ยังหยุดได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปแล้วโลกออนไลน์จะดีขึ้นได้เพียง 'ใช้หัวคลิก' ก่อนการโพสต์ แชร์ คอมเมนท์ ทั้งนี้ หนังสั้นจะถูกปล่อยในวัน Stop CyberBullying Day นี้ ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย และทุกคนสามารถเป็น ส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ได้ด้วยการแสดงสัญลักษณ์หน้าโปรไฟล์เฟสบุ๊ก พร้อมติดแฮชแทก #STOPCyberBullyingโดยสามารถติดตามผ่านช่องทาง Youtube Channel : dtac"
"นอกจากนี้ ดีแทค ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องด้วยการทำเวิร์คช้อปกับเด็กประถม เด็กมัธยมต้นและปลาย พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงการจัดตั้งChat Line เพื่อเป็นแหล่งที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับโลกออนไลน์และเสนอแนะทางออกให้ทุกคนสามารถปกป้องตัวเองจากปัญหาCyberBullying ได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้" อรอุมากล่าวทิ้งท้าย