กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ 3 การไฟฟ้า จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ให้บริการไฟฟ้า (EERS) ของแผนอนุรักษ์พลังงาน EEP 2015 ตั้งเป้าผลประหยัด 500 ktoe
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015)ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการอนุรักษ์พลังงานทั้งในภาพรวมของประเทศและในภาคเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 89,672 ล้านหน่วย (GWh) ในปี 2579 โดยแบ่งออกเป็นเป้าหมายในภาคอุตสาหกรรม 31,843 ล้านหน่วย ภาคอาคารธุรกิจ 37,052 ล้านหน่วย ภาคที่อยู่อาศัย 13,633 ล้านหน่วย และภาครัฐ 7,144 ล้านหน่วย ทั้งนี้ การอนุรักษ์พลังงานในอดีตที่ผ่านมามักจะดำเนินการโดยผู้ใช้หรือผู้บริโภคพลังงาน (end-user) เป็นหลัก ซึ่งอาจขาดความชำนาญโดยเฉพาะเทคนิคในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการพลังงาน โดยเฉพาะการไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่ายจะมีความรู้ความชำนาญ ที่จะสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคพลังงานในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยผู้ให้บริการไฟฟ้า (Energy Efficiency Resource Standard : EERS) มีระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ 1 ปี 6 เดือน (ตุลาคม 2558 - มีนาคม 2560) เพื่อรวบรวมหลักการ แนวปฏิบัติ ประโยชน์ และบทเรียนในการดำเนินมาตรการ EERS หรือมาตรการใกล้เคียงอื่นๆ ในการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยผู้ให้บริการไฟฟ้าในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการไฟฟ้าและผู้บริโภคไฟฟ้าในการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าโดยผู้ให้บริการไฟฟ้า (EERS) และเพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า โดยผู้ให้บริการไฟฟ้า (EERS)ในประเทศไทย
การดำเนินการโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ให้บริการไฟฟ้า มีการดำเนินงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการรวบรวมผลการศึกษาและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับ EERS จากต่างประเทศและในประเทศ และระยะที่ 2 เป็นขั้นตอนของการประมวลผลและปรับปรุงแผนในระยะยาว โดยในส่วนของระยะแรกนั้น ได้มีการจัดการประชุมระดมความคิดเห็นระหว่างผู้ให้ บริการไฟฟ้า (Utilities) และผู้วางนโยบาย (Policy makers) ในการดำเนินโครงการ EERS และจัดประชุม
เชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้ให้บริการไฟฟ้าหลักทั้ง 3 ราย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกำหนดเป้าหมายประหยัดไฟฟ้าในระยะยาวตามโครงการ EERS โดยร่วมกับ สนพ. จัดทำแผนกิจกรรมการประหยัดพลังงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นแผนเริ่มต้นในการดำเนินมาตรการ EERS โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะผู้ใช้ไฟฟ้า คือ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นอาคารพาณิชย์ และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าจากส่วนของกลุ่มโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา อาคารสำนักงาน อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ และตัวแทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความเห็นที่หลากหลาย ในส่วนของการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เป็นผู้แทนจากอุตสาหกรรมพลาสติกและอื่นๆ
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในการจัดโครงการดังกล่าว สามารถใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการวางแผนด้านมาตรการ EERS สำหรับหน่วยงาน เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป้าหมายของผลประหยัด โดยจะมีการนำเสนอร่างแผนการอนุรักษ์พลังงานของหน่วยงาน เพื่อไปปฏิบัติจริงในการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ตลอดจนนำไปเป็นแนวทางจัดทำ "แผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดย
ผู้ให้บริการไฟฟ้า (EERS) รวมถึงผู้ใช้บริการไฟฟ้าจะได้รับคำแนะนำในการหาแหล่งเงินทุนที่จำเป็นในการนำมาลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ ตามมาตรการที่ผู้ให้บริการไฟฟ้าเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักของผู้เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์พลังงาน
"โครงการ EERS นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) ในส่วนมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานการประหยัดพลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน (EERS) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าจะต้องช่วยให้ผู้ใช้บริการหรือผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้า (EERS) และเป็นมาตรการใหม่ยังไม่เคยดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน จำเป็นต้องมีการศึกษารูปแบบกลไกที่เหมาะสมในการนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย และกำหนดระบบกลไกตรวจสอบติดตามที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญของแผนในระยะถัดไป โดยตั้งเป้าผลประหยัดตามแผน 500 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม