กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ซูเปอร์โพล
ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง
ความสบายใจ และ ไม่สบายใจ ของสาธารณชนต่อ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง ความสบายใจ และ ไม่สบายใจของสาธารณชนต่อ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษา อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 1,295 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 10 – 17 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 ไม่สบายใจต่อ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ37.3 รู้สึกสบายใจ ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.2 กังวลว่า หลังการเลือกตั้ง พฤติกรรมปัญหาเดิมๆ ของนักการเมืองจะกลับมาสร้างปัญหาให้ประเทศชาติอีก ในขณะที่ร้อยละ 22.8 คิดว่าปัญหาเดิมๆ ของนักการเมืองไม่กลับมาอีกแล้ว
ที่น่าพิจารณาคือ เด็กเยาวชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ยังคิดได้ว่า หลังการเลือกตั้ง ก็จะเห็นพฤติกรรมปัญหาเดิมๆ ของนักการเมืองกลับมาสร้างปัญหาให้ประเทศชาติอีก และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า กลุ่มผู้ใหญ่ร้อยละ 76.7 ที่กังวลว่า พฤติกรรมปัญหาเดิมๆ ของนักการเมืองจะกลับมา หลังเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า แล้วใครที่สมควรได้รับความวางใจช่วยสกัด ป้องกันปัญหานักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาปกครองประเทศ ผลสำรวจพบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 53.9 ระบุเป็น ทหาร รองลงมาคือร้อยละ 45.5 ระบุเป็น ประชาชน อันดับสามได้แก่ ร้อยละ 26.7 ระบุเป็น กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 17.9 ระบุเป็น กรรมการการเลือกตั้ง และเพียงร้อยละ 14.4 ระบุเป็น พรรคการเมือง ตามลำดับ
ดร.นพดล กล่าวว่า แม้แต่เด็กเยาวชนก็รับรู้ได้ว่าหลังเลือกตั้ง ก็จะได้นักการเมืองที่มีพฤติกรรมปัญหาเดิมๆ กลับมาอีก แต่ "ทหาร" ยังคงได้รับความวางใจจากสาธารณชนให้ช่วยสกัดกัน บรรดานักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาปกครองประเทศ ตามด้วยประชาชนและกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ พรรคการเมืองได้รับความวางใจจากสาธารณชนในอันดับสุดท้าย นั่นหมายความว่า ถ้า ทหาร ประชาชน และกระบวนการยุติธรรม เชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อขจัดบรรดานักการเมืองที่ไม่ดีออกไปได้ ผลที่ตามมาต่อการปฏิรูปประเทศเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติและแผ่นดินเอาไว้เป็นส่วนรวม ย่อมมีความเป็นไปได้สูง