กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางฯ ยืนยันถนนยางพารามีประสิทธิภาพ ช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ และมีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ พร้อมอ้างอิงผลวิจัยการนำยางพาราผสมลาดถนนจากกรมทางหลวง
ดร.ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพารา ร้อยละ 5 กับถนนแอสฟัลต์คอนกรีตทั่วไป โดยอ้างอิงจากผลวิจัยของกรมทางหลวง สรุปได้ว่าถนนผสมยางพารามีประสิทธิภาพดีกว่าถนนทั่วไป จากการทดสอบปรากฏผลบ่งชี้ไปในแนวทางเดียวกัน คือ ถนนผสมยางพารามีค่าความอ่อนตัวสูงกว่า จึงทนทานต่อความร้อนได้มากกว่า ประมาณร้อยละ 48 ดังนั้น ถนนผสมยางพาราจึงมีความทนทานและแข็งแรงกว่าถนนทั่วไป ซึ่งหากใช้งานประมาณ 5 ปี สภาพผิวถนนจะเริ่มมีสภาพชำรุด ในขณะที่ถนนผสมยางพารายังคงสภาพพื้นผิวเรียบ ไม่ชำรุดและไม่เกิดร่องหลุม
"นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านความทนทานและแข็งแรง ถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพารายังมีคุณสมบัติช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ จากการทดสอบค่าการลื่นไหลของถนนยางพารามีน้อยกว่า จึงถือว่ามีความฝืดมากขึ้น ช่วยลดการลื่นไถลได้ รวมถึงมีความต้านทานร่องล้อของยานพาหนะ ซึ่งมีส่วนช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย" ดร.ณพรัตน์ กล่าว
ล่าสุด หลังจากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนน 305 รังสิต-องครักษ์ นครนายก นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้มอบหมายให้ ดร.สุจินต์ ไชชุมศักดิ์ เป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะประชุมได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งแขวงทางหลวงแผ่นดินจังหวัดนครนายกได้ยืนยันว่า พื้นที่เกิดอุบัติเหตุนั้นไม่อยู่บนพื้นถนนที่ใช้ยางพาราผสม แต่เป็นพื้นถนนแอสฟัลติกคอนกรีตธรรมดาทั่วไป
นายสุรพล ประเสริฐสัมพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม แขวงทางหลวงแผ่นดินจังหวัดนครนายก กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ดำเนินการทดสอบถนนที่มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม คู่กับถนนแอสฟัลติกคอนกรีตทั่วไป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 โดยจุดที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ในช่วง กม. 51+750 ถึง 52+750 (ระยะทาง1 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นช่วงถนนแอสฟัลติกคอนกรีตทั่วไปไม่มียางพาราเป็นส่วนผสม สำหรับช่วงถนนแอสฟัลติกคอนกรีตผสมยางพาราที่กรมทางหลวงทดสอบ คือ ช่วง กม. 52+750 ถึง 53+750 (ระยะ 1 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นช่วงที่ต่อจากช่วงถนนที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น
"ถนนแปลงทดสอบระยะทาง 2 กิโลเมตร ดังกล่าว มีอายุประกันสัญญา 2 ปี และหมดอายุของสัญญาไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 โดยหลังจากหมดสัญญามีการทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทเพื่อบำรุงซ่อมแซมถนน โดยกรมทางหลวงได้เร่งรัดให้มีการซ่อมผิวถนนมาตลอด เนื่องจากช่วงถนนแอสฟัลติกคอนกรีตทั่วไปที่เกิดอุบัติเหตุนั้น ผิวถนนมีสภาพเสียรูป เกิดร่องล้อ เมื่อมีฝนตกจึงมีน้ำขังอาจเป็นเหตุให้เกิดการลื่นไถล"นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติม