กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
นายประภาส ทองรัก อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่ตำบลบ้านยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ราบสูง ป่าเขาสูงชันสลับซับซ้อน โดยในพื้นที่ที่มีชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงจากหลายท้องที่มาอาศัยอยู่รวมกัน มี 4 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยเกษม บ้านลิ้นช้าง บ้านท่าเสลา และบ้านพุน้ำร้อน จากการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ พระครูสุนทรวัชการ เจ้าอาวาสวัดลิ้นช้าง เจ้าคณะ ตำบลหนองหญ้าปล้อง เขต 2 องค์อุปถัมภ์โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนยางน้ำกลัดเหนือ และครูประสาน ศรีสุขสวัสดิ์ พบว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ชาวกะเหรี่ยงพยายามปรับวิถีชีวิตของตนเองให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าสังคมเมือง ทำให้วิถีชีวิตบางส่วนต้องมีการปรับเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเรื่องการแต่งกาย การประกอบสัมมาอาชีพ หรือแม้กระทั่งภาษา
ในด้านของภาษานั้น ภาษากะเหรี่ยงถือเป็นภาษาท้องถิ่นที่เป็นความภาคภูมิใจและเป็นเอกลักษณ์ชาวกะเหรี่ยง แต่เอกลักษณ์พื้นถิ่นนี้กำลังจะเลื่อนหายไปตามกระแสความเป็นไปได้ของสังคมเมือง เมื่อวัฒนธรรมของสังคมเมืองค่อย ๆ คืบคลาน และเข้ามากลืนกิน วิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยง ชนพื้นเมืองจึงหันมาเรียนรู้ภาษาเมืองจนละเลยเอกลักษณ์ทางภาษาของตนเองไป และสักวันคงจะไม่มีชนเผ่ากะเหรี่ยงคนใดที่สามารถพูดภาษาพื้นถิ่นของตนได้อีก ดังนั้นเพื่อให้ภาษากะเหรี่ยงยังคงดำรงอยู่ต่อไปจนชั่วลูกหลาน จึงให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นางสาวรัตติกร ซำเจริญ และนางสาวพุธิตา แก้วกระจ่าง สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำจัดทำสื่อมัลติมีเดียสำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาขึ้นมา และได้จัดโครงการนำนักศึกษาในสาขาวิชาลงพื้นที่ฟื้นฟูตำบลบ้านยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี อนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตก
ผู้ผลิตสื่อสื่อมัลติมีเดียสำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษา "เมย์" นางสาวรัตติกร ซำเจริญ เล่าว่า ก่อนสื่อมัลติมีเดียที่ผลิตช่วยในการสอนการเรียนรู้เกี่ยวกับ ภาษากะเหรี่ยง โดยภายในสื่อมัลติมีเดียจะมีการรวบรวมคำศัพท์ คำอ่าน ความหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษากะเหรี่ยงเอาไว้ รวมทั้งมีเกมฝึกทักษะเพื่อช่วยในพัฒนาความรู้และการจดจำทางด้านภาษา พร้อมทั้งแบบฝึกหัดที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพทั้งก่อนและหลังการใช้สื่อมัลติมีเดียในการเรียนรู้ ซึ่งก่อนที่จะลงมือผลิตมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสื่อ ซึ่งเป็นคนในชุมชนในการให้ความร่วมมือ จากนั่นมีการทำแบบประเมินความพึงพอใจ และได้ลงพื้นที่ในการทดสอบและเก็บข้อมูลที่โรงเรียนยางน้ำกลัดเหนือ น้องๆ ให้ความสนใจดีมาก ซึ่งดีใจที่ได้นำความรู้ไปสร้างประโยชน์ให้กับคนที่ด้อยโอกาส
ทางด้าน "โม" นางสาวพุธิตา แก้วกระจ่าง ผู้ร่วมผลิตสื่ออีกหนึ่งคน เล่าว่า จากที่ตนเองลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูล คนในชุมชนอัธยาศัยดี เป็นกันเองและน่ารัก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของภาษาเป็นอย่างดี ในการทำสื่อครั้งนี้รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำสื่อที่ตนเองรัก ได้เรียนรู้ภาษาอีกหนึ่งภาษา ระหว่างที่ทดสอบน้องๆ ให้ความสนใจ และสื่อที่ทำได้นำไปใช้ประโยชน์จริง
"โฟร์" นายชคริส นารถสีทา เล่าว่า ตนเองไม่เคยสัมผัสชีวิตกระเหรี่ยงมาก่อน หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ทุกคนให้การต้อนรับ เด็กๆ ดูตื่นเต้นที่เห็นพี่ ในการจัดกิจกรรมเป็นห้องประชุมเล็กๆ ในการทำกิจกรรมสนุกมาก โอกาสที่ได้ส่งต่อให้กับน้องๆ ก่อนที่สำเร็จการศึกษาได้นำวิชาความรู้ไปเผยแพร่ให้กับน้องๆ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้าน พบว่า ภาษากะเหรี่ยงกำลังจะหายไปจากหมู่บ้าน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เด็กๆ จะได้มีสื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
"ซี" นางสาวเฟาซี การพงศรี เล่าว่า ได้เรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยง เด็กมีความน่ารัก และตั้งใจดูการนำเสนอ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม สื่อที่นำไปทดลองน้องๆ เข้าใจและเรียนรู้ได้เร็ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมพัฒนาโรงเรียน ทำกิจกรรมสันทนากับเด็กๆ รอยยิ้มของน้องๆ เป็นรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ ดีใจและประทับใจที่ได้ลงพื้นที่ ถ้ามีโอกาสอยากทำกิจกรรมแบบนี้อีก
ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคม บทบาทของภาษากะเหรี่ยงเริ่มจางหายไป ในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นที่เป็นความภาคภูมิใจและเป็นเอกลักษณ์
ชาวกะเหรี่ยง ด้วยสื่อมัลติมีเดียทำให้มีความน่าสนใจ และกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน ขอปรบมือให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี