กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--TWENTIETH CENTURY FOX
"สักวันหนึ่ง ผู้คนจะมองย้อนอดีตกลับมา และยกย่องว่า ผมเป็นผู้ให้กำเนิดศตวรรษที่ยี่สิบ" -- แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ (Jack the Ripper)
เขานำมาซึ่งความหวาดกลัว และความดำมืด
ดาราหน้าหนึ่งคนแรกของหนังสือพิมพ์ข่าวชาวบ้านแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ เขายังคงเป็นนักฆ่าหลายศพที่อื้อฉาว และลึกลับที่สุดในประวัติศาสตร์
แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ก่อคดีสยองสุดร้ายกาจถึงห้าคดีในระยะเวลาเพียงสิบสัปดาห์ในมหานครลอนดอน (London) เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1888 ยังผลให้เกิดข่าวลือ, คำซุบซิบนินทา, และความหวาดสะพรึงไปทั่ว แต่ก็ไม่อาจจับกุมเขาได้เลย
ภาพยนตร์เรื่อง "FROM HELL" สร้างอ้างอิงจากนวนิยายบรรยายภาพสุดบรรเจิดที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เต็มไปด้วยตำนานสยองของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ที่จะกระตุกประสาททุกเส้นให้ตึงเครียด และตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลังของขบวนการสมทบคบคิดที่โยงใยขึ้นไปยังกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศอังกฤษ ( England ) เลยทีเดียว
ภาพยนตร์เรื่อง "FROM HELL" นำแสดงโดย จอห์นนี่ เด็ป ( Johnny Depp ), ฮีทเธอร์ เกรแฮม ( Heather Graham ), เอียน โฮล์ม ( Ian Holm ), เจสัน เฟล็มมิ่ง ( Jason Flemyng ), และ ร็อบบี้ คอลเทรน ( Robbie Coltrane ) ผลงานการกำกับ และบริหารงานอำนวยการสร้างภาพยนตร์โดย อัลเล็น และ อัลเบิร์ต ฮิวจ์ ( Allen and Albert Hughes จาก Dead Presidents, Menace II Society, และ American Pimp ) และร่วมบริหารงานอำนวยการสร้างภาพยนตร์กับ เอมี่ รอบินสัน ( Amy Robinson จาก Autumn in New York ), และ โธมัส เอ็ม. แฮ้มเมล ( Thomas M. Hammel ) รวมทั้ง ดอน เมอร์ฟี่ ( Don Murphy จาก Bully, และ Natural Born Killers ) กับ เจน แฮมเชอร์ ( Jane Hamsher จาก Natural Born Killers ) เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ด้วย
ภาพยนตร์เรื่อง "FROM HELL" สร้างจากบทของ เทอร์รี่ เฮย์ ( Terry Hayes ), และ ราฟาเอล เกลเซียส ( Rafael Yglesias ) เป็นผลงานการสร้างภาพยนตร์ของ Underworld Pictures / Don Murphy and Jane Hamsher / Amy Robinson พร้อมด้วยนักแสดงสมทบคับคั่ง อาทิ เลสลี่ ชาร์พ ( Lesley Sharp จาก "The Full Monty" ), ซูซาน ลินช์ ( Susan Lynch จาก "Waking Ned Devine" ), แคทริน คาร์ทลิดจ์ ( Katrin Cartlidge จาก "Breaking the Waves" ), และ เทอเร้นซ์ ฮาร์วี่ย์ ( Terence Harvey จาก "Prime Suspect" )
สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็มีปราสาทโบราณนอกกรุงปร้าก ( Prague ) และโรงถ่ายที่เนรมิตย่าน Whitechapel ของมหานครลอนดอน ( London ) ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมอื้อฉาว โดยสร้างกันบนพื้นที่ 20 เอเคอร์ใกล้ Barrandov Studios ชื่อดัง และคงความสมจริงของย่าน Whitechapel ที่มีบ้านเรือนร้านค้า และถนนหินกรวดสายแคบ ๆ ที่ตัดคดเคี้ยวผ่านสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมหญิงโสเภณีทั้งห้ารายที่จบชีวิตลงอย่างสยดสยอง
มาร์ติน ชายด์ ( Martin Childs จาก "Shakespeare in Love" ) ผู้ออกแบบสร้างสรรค์ฉากเจ้าของรางวัลออสการ์ ( Academy Award ) พร้อมด้วยคณะศิลปิน และช่างไม้ช่างสีมือฉมังถึงเจ็ดสิบชีวิตร่วมกันสร้างฉากให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่อง "FROM HELL" นี่มีตัวละครที่มีบทพูดมากกว่าหกสิบชีวิต และยังมีบางฉากต้องใช้นักแสดงมากกว่าสองร้อยห้าสิบคนแต่งตัวย้อนกลับไปถึงยุค Victorian England กันเลย หรือไม่ก็สวมใส่เสื้อผ้าชุดขาดวิ่นรุ่งหริ่ง งานนี้ได้ คิม บาร์เร็ต ( Kym Barrett จาก "The Matrix," และ "William Shakespeare's Romeo + Juliet" ) พร้อมด้วยคณะช่วยกันตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากกว่าสี่ร้อยชุดเพื่อใช้แสดงในภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่อง
นอกจากนั้นยังมีคณะผู้สร้างภาพยนตร์มือฉมังร่วมงานด้วยอีกมากมาย รวมทั้ง ปีเตอร์ เด็มมิ่ง ( Peter Deming, ASC จาก "Scream 2", "Scream 3", และ "Austin Powers: International Man of Mystery" ) มาเป็นผู้กำกับภาพ ซึ่งพี่น้องตระกูลฮิวจ์ ( Hughes brothers ) ประทับใจผลงานการกำกับภาพของเขาจาก "Lost Highway"
ส่วนงานเอ็ฟเฟ็คเมค-อัพพิเศษก็มอบหมายให้ Millennium Effects ที่เคยสร้างผลงานสุดประทับใจมาแล้วใน "Saving Private Ryan" และ "Gladiator" ทั้งยังได้ จอร์จ กิ๊บ ( George Gibbs จาก "Indiana Jones and the Last Crusade" ) มาเป็นผู้ดูแลงานสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็ค, งานตัดต่อภาพยนตร์ก็ได้ แดน เล็บเบ็นทัล ( Dan Lebental จาก "Dead Presidents" ) และจอร์จ บาวเออร์ ( George Bowers, A.C.E. จาก "How Stella Got Her Groove Back" ) ส่วน เทรเวอร์ โจนส์ ( Trevor Jones จาก "Notting Hill" ) เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง FROM HELL หรือ "ฟร็อม เฮล .. ชำแหละพิสดารจากนรก" จะดูราวกับเป็นผลงานดราม่าร่วมสมัยที่เปิดตัวสองพี่น้องตระกูลฮิวจ์ ( the Hughes brothers ) แต่ทั้งคู่หลงใหลกับเรื่องราวของ เดอะ ริปเปอร์ ( the Ripper ) สุดอื้อฉาวซึ่งเกิดขึ้นในมหานครลอนดอน ( London ) มาตั้งแต่ปี 1888 โน้นเลยทีเดียว ความแตกต่างกันราวฟ้ากับดินของฐานะผู้คนในมหานครแห่งนี้ทำให้เกิดกลุ่มชนยากไร้ และขัดสนข้นแค้นจำนวนมหาศาล พวกเขาส่วนใหญ่มักจะชุมนุมกันอยู่ในย่านเสื่อมโทรมที่เรียกขานกันว่า ไว้ท์ชาเพล ( Whitechapel ) ถิ่นสลัมแสนสกปรกรกรุงรังที่กลายเป็นที่หลบเสพยา, ค้าเนื้อสดขายตัว, ร่ำสุรากันจนหัวราน้ำ, และก่อคดีอาชญากรรมตามท้องถนนสายเล็กสายน้อยบ่อยครั้ง
อัลเบิร์ต ฮิวจ์ ( Albert Hughes ) กล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในสังคม มันว่าด้วยความยากจนข้นแค้น, ความรุนแรง, และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งเราเจาะจงตีแผ่ในหนังเรื่องนี้เพราะเราหลงไหลเสียเหลือเกิน ตัวละครทั้งหมดที่ในหนังเรื่องนี้ล้วนเป็นคนผิวขาว แต่คนยากคนจนต่างก็มีปัญหาแบบเดียวกัน
"นอกจากนั้นเราก็ยังประทับใจกับวิธีคิดแนวจิตวิทยาของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ทั้งนิสัยใจคอ และอารมณ์ลุ่มลึกที่กระตุ้นให้เขาลงมือก่อคดีอื้อฉาว"
ส่วน อัลเล็น ฮิวจ์ ( Allen Hughes ) กล่าวว่า "การเล่าเรื่องราวครั้งก่อน ๆ เท่าที่ผ่านมาล้วนบิดเบือน, มักจะเป็นมุมมองของชนชั้นสูง เราจึงตีแผ่จากมุมมองของผู้คนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนผู้ยากไร้ ในย่านที่คดีอื้อฉาวเกิดขึ้นกันเลยทีเดียว"
ความเป็นมาของภาพยนตร์
คำว่า FROM HELL หรือชื่อของภาพยนตร์เรื่อง "ฟร็อม เฮล … ชำแหละพิสดารจากนรก" นี่ได้มาจาก คำลงท้ายจดหมายที่เขียนโดย เดอะ ริปเปอร์ ( the Ripper ) อ้างตนว่าเป็นคนที่อาศัยอยู่ ใน นรก และพยายามจะเอาชีวิตให้รอดภายใต้สภาวะที่กดดันน่าสยดสยอง บุคคลสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดเป็น หญิงโสเภณีห้าคน ที่มีมิตรภาพเหนียวแน่นต่อกัน และยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเขย่าขวัญจากฆาตกรสยอง
แมรี่ เคลลี่ ( Mary Kelly รับบทโดย ฮีทเธอร์ เกรแฮม - Heather Graham ), เค็ธ เอ็ดดาว ( Kate Eddowes รับบทโดย เลสลี่ ชาร์พ - Lesley Sharp ), ลิซ สตรายด์ ( Liz Stride รับบทโดย ซูซาน ลินช์ - Susan Lynch ), ดาร์ค แอนนี่ แชพแมน ( Dark Annie Chapman รับบทโดย แค็ทริน คาร์ทลิดจ์ - Katrin Cartlidge ), และ พอลลี่ ( Polly รับบทโดย แอนนาเบล แอพชั่น - Annabelle Apsion ) ต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างยากแค้น, หากินจากเรือนร่างของตัวเอง ในสังคมที่ไม่เคยให้เกียรติ และตักตวงเอาจากพวกเธอเสียด้วยซ้ำ พวกเธอแทบจะไม่มีสมบัติติดตัวเลยสักชิ้น หนำซ้ำยังต้องต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจที่หมายปองจ้องเอาสิ่งมีค่าที่สุกที่พวกเธอมีเหลืออยู่ ซึ่งก็คือ ชีวิตของพวกเธอ นั่นเอง
ฮีทเธอร์ เกรแฮม ( Heather Graham ) กล่าวว่า "ตัวละครของดิฉัน และพวกเพื่อน ๆ ของเธอนี่ต้องใช้ชีวิตอยู่กันอย่างอด ๆ อยาก ๆ ในย่านสลัมที่น่ากลัว ต่างก็มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ แค่มีที่ให้ซุกหัวนอนได้นี่ก็หรูสุด ๆ แล้ว สิ่งเดียวที่ยังคงช่วยให้ แมรี่ เคลลี่ ( Mary Kelly ) มีกำลังใจต่อไปได้อีกวันหนึ่ง ๆ ก็คือ ความฝันที่หวนคืนสู่ไอร์แลนด์ ( Ireland ) บ้านเกิด และบ้านที่เธออาศัยอยู่เมื่อตอนยังเป็นเด็กสาว"
มีอยู่ฉากหนึ่งที่สะเทือนใจไม่น้อยก็คือฉากห้องนอนที่บรรดาสาว ๆ ถูกมัดเรียงติดอยู่กับเก้าอี้นั่งยาวเพื่อใช้เป็นที่นอน มันเป็นทางเลือกที่ไม่สบายนักสำหรับคนยากไร้ที่ไม่มีปัญญาหาที่หลับนอนเป็นเตียงได้ เจ้าของบ้านจะเข้ามาในตอนเช่าเพื่อตัดเชือกที่มัดไว้ แล้วก็ปล่อยให้พวกเธอกลับไปใช้ชีวิตในถนน ซึ่งพวกเขาก็ต้องออกไปหาเงิน เพื่อซื้อหาอาหาร และเป็นค่าที่พักอาศัยในค่ำคืนถัดไป มันเป็นวัฏจักรของการเอาชีวิตให้รอดไปวันหนึ่ง ๆ ที่ทั้งโหดร้าย และดูราวกับจะไม่สิ้นสุดลงได้ง่าย ๆ
"ชีวิตของพวกผู้หญิงเหล่านี้ช่างน่าสังเวช และดูมืดมนไร้อนาคต" เลสลี่ ชาร์พ ( Lesley Sharp ) กล่าว "การใช้ชีวิตเอาตัวให้รอดไปวันหนึ่ง ๆ ของพวกเธอนี่ต้องเผชิญหน้ากับการข่มขู่สารพัดรูปแบบ ทั้งจากพวกแมงดาหน้าเลือด, ลูกค้าโหด ๆ ที่ชอบใช้กำลัง, อาชญากรรมข้างถนน, โรคร้าย, และการติดสารเสพติด"
ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตของพวกเธอยิ่งเสี่ยงอันตรายเมื่อมีส่วนล่วงรู้ความลับสำคัญที่อาจโค่นล้มบัลลังก์กษัตริย์ ( the Crown ) และถึงขั้นปลิดชีพพวกเธอเองด้วยซ้ำ
มีเพียงเจ้าหน้าที่หนุ่มที่ดูราวกับจะคอยช่วยเหลือปกป้อง "ผู้เคราะห์ร้าย" เหล่านี้ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มองเป็น การสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เขาคือ นักสืบเฟร็ด แอ็บเบอร์ไลน์ ( Inspector Fred Abberline รับบทโดย จอห์นนี่ เด็ป - Johnny Depp ) แอ็บเบอร์ไลน์ ก็เป็นคนอมทุกข์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น ๆ เขาทนทุกข์ทรมานจากความทรงจำอันเลวร้าย จนต้องหันไปพึ่งฝิ่น เขาติดฝิ่นจนเห็นภาพหลอน ซึ่งแม้จะช่วยให้ลืมความทรงจำอันโหดร้ายนั้นไปได้บ้าง แต่ก็ทำให้เขาหย่อนสมรรถภาพในการทำงานไปด้วยเหมือนกัน "แอ็บเบอร์ไลน์ ชอกช้ำกับชีวิตแสนลำเค็ญ" จอห์นนี่ เด็ป ( Johnny Depp ) เล่า "เขาสูญเสียทั้งภรรยาและลูก จนต้องเยียวยาตายวิธีของเขาเองเพื่อให้ประทังชีวิตอยู่ได้ไปวันหนึ่ง ๆ " นักสืบหนุ่มได้เลื่อนขั้นเพื่อดูแลท้องที่ ไว้ท์แชพเพิล ( Whitechapel ) หลังจากเป็นนายตำรวจมานานหลายปี แต่กลับต้องเรียนรู้บทเรียนโหดว่า แท้ที่จริงแล้วมันเป็นท้องที่เกิดเหตุคดีสะเทือนขวัญที่ก่อขึ้นโดยน้ำมือของ เดอะ ริปเปอร์ ( the Ripper ) เอมี่ รอบินสัน ( Amy Robinson ) ผู้บริหารงานอำนวยการสร้างภาพยนตร์กล่าวว่า "แอ็บเบอร์ไลน์ เป็นตัวละครที่ทำให้ย้อนนึกถึงบุคลิกของตัวละครสำคัญในนิยายคลาสสิคยุคทศวรรษที่สิบเก้า เขาจะเป็นพวกฮีโร่ที่มีปมด้อย ซึ่งพยายามต่อสู้กับกำลังใจที่ถดถอยอยู่ภายในอย่างท้อแท้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายแรงน่าสะพรึงที่เกิดขึ้นกับชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า"
นักสืบหนุ่มยังโชคดีอยู่บ้างที่มี ผู้ช่วย เป็นเพื่อนคู่ใจในการสืบสวนคดีฆาตกรรมสยอง เขาคือ จ่าก็อดลี่ ( Sgt. Godley ) ซึ่งรับบทโดย ร็อบบี้ คอลเทรน ( Robbie Coltrane จาก "The World Is Not Enough" ) ก็อดลี่ เป็นเพื่อผู้ซื่อสัตย์ ที่คอยยื่นมือให้ความช่วยเหลือและเป็นห่วงเป็นใย แอ็บเบอร์ไลน์ ตลอดช่วงที่เขายังไม่ฟื้นจาก "การไล่ล่ามังกร" ( "chases the dragon" ) หรือ ฤทธิ์ของการเสพฝิ่น นั่นเอง "ก็อดลี่ เป็นตำรวจเลือดสก็อต ( Scottish ) ที่โผงผางตรงไปตรงมา ที่จะสรุปคดีปิดลงได้ก็ต่อเมื่อได้หลักฐานสมบูรณ์สนับสนุนเท่านั้น" คอลเทรน กล่าว "อย่างพวกเลือดบนคมมีด และพยานบุคคลแน่นหนา เขายังปลื้มกับวิธีการสืบสวนสอบสวนแปลกใหม่ และอาศัยสัญชาตญาณเป็นหลักของ แอ็บเบอร์ไลน์ ไม่น้อยเหมือนกัน มันช่างแตกต่างจากธรรมชาติของการสืบสวนคดีแบบ ก็อดลี่ โดยสิ้นเชิง แต่เขาก็ยอมรับ วิสัยทัศน์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ของ แอ็บเบอร์ไลน์ ทั้งยังกระตือรือร้นที่จะสืบสวนสอบสวนแนวทางใหม่เสียด้วยซ้ำ" จอห์นนี่ เด็ป ( Johnny Depp ) กล่าวว่า "ก็อดลี่ เป็นเพียงบุคคลเดียวในโลกที่ แอ็บเบอร์ไลน์ ยอมรับนับถือ และยอมรับฟังเหตุผล ก็อดลี่ พยายามช่วยให้เขายังชีพอยู่ได้ คอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ก็อดลี่ เป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของเขาเลยล่ะครับ"
เมื่อคดีฆาตกรรมในย่านไว้ท์แชพเพิล ( Whitechapel ) สูงขึ้นเรื่อย ๆ นักสืบหนุ่มสองคนก็ถูกเพ่งเล็งจากเจ้านายเบื้องบน ที่พยายามจะปกปิดคดีสยดสยองไม่ให้เล็ดลอดล่วงรู้สู่สาธารณชน มากกว่าที่จะพยายามหาตัวฆาตกรมาลงโทษอย่างจริงจัง จะมีเพียงท่านเซอร์ วิลเลี่ยม กัล ( Sir William Gull รับบทโดย เอียน โฮล์ม - Ian Holm ) เท่านั้น นอกจากเขาจะเป็นแพทย์ประจำราชวงศ์แล้ว ก็ยังมีอำนาจมากพอที่จะสนับสนุนนักสืบหนุ่มที่ใครต่อใครหันหลังให้อีกด้วย
"กัล มั่นใจว่า คดีฆาตกรรมทั้งหมดเกิดจากน้ำมือของบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญทางการแพทย์" เอียน โฮล์ม ( Ian Holm ) กล่าว "ฆาตกรมีความสามารถเชิงศัลยแพทย์เกินกว่าที่คนฆ่าสัตว์, พ่อค้าเนื้อ, หรือคนงานใด ๆ จะทำได้ ทั้งยังมีลัทธิความเชื่อพิสดาร และน่าสะพรึงเข้ามาพวพันเกี่ยวข้องด้วยนะ"
กัล ยังแนะนำให้ แอ็บเบอร์ไลน์ รู้จักกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ฆาตกรอาจจะนำมาใช้ในการก่อคดีสะเทือนขวัญด้วยซ้ำ ซึ่งคำแนะนำของเขาช่วยให้ แอ็บเบอร์ไลน์ ตัดข้อสงสัยที่ว่าคดีฆาตกรรมอาจโยงใยไปถึง Order of Freemasons ซึ่งอาจกลายเป็นการรับบัญชาสนองเบื้องพระยุคลบาทไปได้นั่นเอง
กลุ่ม Freemasons เป็นคณะบุคคลผู้ทรงอำนาจมหาศาล เป็นองค์กรคล้ายกับลัทธิ ที่มีสมาชิกสืบทอดเจตนารมย์ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด และทรงอานุภาพที่สุดในโลกด้วยซ้ำ กลุ่ม Freemasons เคยเป็นตัวการของกระบวนการสมทบคบคิดหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังมีพิธีกรรมต้อนรับคนใหม่เข้าร่วมลัทธิ, และสาบานตนว่าจะรักษาความลับยิ่งชีวิตด้วย
การเชื่อมโยงราชวงศ์ ( Crown ) เข้ากับคดีฆาตกรรม แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ทั้งหมดมีมูลน่าเชื่อถือไปทั่วทวีปยุโรป ( Europe ) ซึ่งมีการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างแจ่มชัดมากกว่าในหมู่ชนชาวอังกฤษ ( British ) เฉกเช่นเดียวกับที่อเมริกันชน ( Americans ) รับรู้ข่าวสารการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ ( JFK assassination ) เลยทีเดียว ความเชื่อมโยงความรับผิดชอบของราชบัลลังก์ถึงการลักลอบสมรสอย่างลับ ๆ ปรากฎในนิยายของ อัลลัน มัวร์ ( Alan Moore ) เรื่อง From Hell ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1999 เป็นตอน ๆ ถึงสิบตอนในนิตยสารรวมเรื่องสั้นชื่อ Taboo ภาพประกอบที่วาดโดยศิลปินชื่อ เอ็ดดี้ แคมพ์เบล (Eddie Campbell ) ก็ประทับใจ ดอน เมอร์ฟี้ ( Don Murphy จาก "Natural Born Killers" ) ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และขอซื้อลิขสิทธิ์ไว้ทั้งหมด
เมอร์ฟี้ เล่าว่า "อัลลัน มัวร์ ( Alan Moore ) เป็นนักเขียนนิยายภาพชั้นครู ผมเป็นแฟนเหนียวแน่น และชื่นชมผลงานของเขามานานหลายปีแล้ว ผมติดใจ From Hell เอามาก ๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกับ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) มันยอดเยี่ยมมาก, ซับซ้อน, และน่าลุ้นน่าติดตาม ทั้งยังทำการบ้านมาแน่น มีการอ้างอิงงานวิจัยและบทคัดย่อยืนยันสารพัด"
นิยายของ มัวร์ ถูกดัดแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์โดย เทอร์รี่ เฮย์ ( Terry Hayes ) และ ราฟาเอล เกลเซียส ( Rafael Yglesias ) ซึ่งรายหลังนี่มาช่วยตีความมุมมองของการสมทบคบคิดได้อย่างเหนือชั้นด้วย
"ไม่ว่าราชวงศ์อังกฤษ ( British monarchy ) จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมของเจ้า เดอะ ริปเปอร์ ( the Ripper ) มากน้อยหรือไม่เลยก็ตามที มันก็ไม่อาจลบล้างประเด็นกดขี่ทางชนชั้นให้ลดถอยลงไปได้" เกลเซียสกล่าว "ทางการปฏิเสธแม้จะลองพิจารณาความเป็นไปได้ที่ว่า ผู้ต้องสงสัยอาจจะเป็นผู้รากมากดีมีฐานะที่เชี่ยวชาญผลงานยุควิคตอเรี่ยน ( Victorian era ) ความบกพร่องของสังคมถูกตราหน้าว่าเกิดจากคนจนผู้ยากไร้ และคนชั้นกรรมาชีพอยู่ร่ำไป"
ในฐานะที่เธอก็เป็นชนชั้นกรรมาชีพคนหนึ่ง, อาจจะเรียกว่า หญิงโสเภณี ก็ได้, แมรี่ เคลลี่ ( Mary Kelly ) ก็ไม่อาจเข้ากับสังคมของผู้ "มีชื่อเสียงหน้าตาควรค่าแก่การเคารพ" ได้อย่างสนิท อย่างน้อยก็ตอนที่เธอไม่ได้ทำงาน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และความระแวงว่าจะตกเป็นเครื่องมือ ทำให้เธอปฏิเสธการสืบสวนสอบสวนของ แอ็บเบอร์ไลน์ ในตอนแรก
"พวกหญิงสาวที่ทำมาหากินข้างถนนมักปกป้องตัวเองก่อนเสมอ" อัลเล็น ฮิวจ์ ( Allen Hughes ) กล่าว "แมรี่ เคลลี่ ( Mary Kelly ) มองว่า แอ็บเบอร์ไลน์ ก็เป็นเพียงผู้ชายอีกคนหนึ่งที่หวังใช้ประโยชน์จากตัวเธอ ความสุภาพ และความจริงใจของเขานั่นเองที่ค่อย ๆ หังปราการป้องกันตัวเองของเธอลงได้ และเธอจึงค่อย ๆ ไว้วางใจเขามากขึ้น ๆ "
เมื่อมิตรภาพแนบแน่นยิ่งขึ้น มันก็ลึกซึ้งเกินกว่าที่ชนชั้นทางสังคม หรือชนชั้นที่แตกต่างกันของทั้งคู่จะมาขวางกั้นได้ อันตรายแห่งการสบทบคบคิด และความไร้เมตตาปรานีมุ่งตรงมายังหัวใจรักของทั้งสอง และชะตากรรมของทั้งคู่ตกอยู่ในเงื้อมมือของฆาตกรอำมหิตที่หมายจะสร้างชื่อให้ประวืตศาสตร์ต้องจารึกชื่อของเขาไว้ในหน้าใดหน้าหนึ่งให้จนได้
ในทางกลับกัน เดอะ ริปเปอร์ พยายามจะอวดอ้างตัวเองว่าเป็นผู้ยกระดับความรุ่งเรืองของศตวรรษที่ยี่สิบ หากแต่เป็นการนำมาซึ่งความรุ่งโรจน์ของหนังสือพิมพ์ชาวบ้านที่เจาะจงเสนอข่าวเลือดสาดเป็นหลัก และลัทธิคลั่งคนดัง บรรดาหนังสือพิมพ์เจ้ากรมกระพือสะพัดของอังกฤษ ( British tabloids ) โดดตระคลุบข่าวอื้อฉาวแบบนี้แทบจะในทันที และโหมประโคมกันจนกลายเป็นตำนานไปในที่สุด
จอห์นนี่ เด็ป ( Johnny Depp ) ซึ่งคุ้นเคยกับข่าวคราวแนวนี้มากที่สุด กล่าวว่า "ก่อนเกิดเหตุของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) มีหนังสือพิมพ์วางขายในมหานครลอนดอน ( London ) เพียงไม่กี่ร้อยฉบับ แต่เมื่อถึงจุดที่ข่าวฆาตกรรมแพร่สะพัดไปทั่วทุกหัวระแหงแล้ว ก็มีหนังสือพิมพ์เปิดตัวรองรับกระแสอีกหลายพันฉบับเลยเชียว" ถือได้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) โด่งดังก็เพราะสื่อมวลชน และยังกลายเป็น "ดาราข่าวชาวบ้าน" ( "tabloid star" ) คนแรกไปเลยด้วย
คดีฆาตกรรมของเดอะ ริปเปอร์ ( The Ripper ) ยังก้าวล้ำหน้าวิทยาการชันสูตรของทางตำรวจ ซึ่งยังอยู่ในขั้นเริ่มแรกในยุค 1880 เลยทีเดียว อัลเล็น ฮิวจ์ ( Allen Hughes ) กล่าวว่า "ในเวลานั้น ถ้าตำรวจไม่อาจจับฆาตกรได้คาหนังคาเขาใกล้ ๆ กับศพ พร้อมด้วยเลือดเปื้อนคามือแล้วล่ะก็ เขาไม่อาจดำเนินคดีกับคุณได้เลย มันยังไม่มีกระบวนการที่ได้มาตรฐานของการตรวจสอบลายนิ้วมือ หรือการทดสอบเม็ดเลือกล้ำสมัยเช่นในปัจจุบัน แต่คดีฆาตกรรมครั้งประวัติศาสตร์นี้ช่วยก่อกำเนิดพัฒนาการของกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำมาต่อกรกับคนร้ายได้"
แน่นอนว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ไม่เคยถูกจับกุมตัวได้ รูปพรรณสัณฐานของเขายังคงมืดมน, ความกล้าบ้าบิ่นของเขาในการก่อคดีฆาตกรรมอย่างโหดร้ายทารุณในที่สาธารณะ, และความสามารถเฉพาะตัวที่หลบหนีไปในความมืดได้อย่างไร้ร่องรอย ยังคงสร้างความคลางแคลงใจกับสาธารณชนมากนานกว่าศตวรรษ "เขาขึ้นชื่อเป็นอาชญากรตัวฉกาจที่เหมาะจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุด" ร็อบบี้ คอลเทรน ( Robbie Coltrane ) ยอมรับ
อัลเบิร์ต ฮิวจ์ ( Albert Hughes ) ตั้งข้อสังเกตว่า "สิ่งที่ท้าทาย และดึงดูดความสนใจของพวกเราก็คือการได้ตีแผ่ตำนานที่โด่งดังและเต็มไปด้วยความลึกลับซ่อนเงื่อน มาผสมผสานเข้ากับจินตนาการของเราเอง และสร้างให้มันกลายเป็นเรื่องราวที่มีหลายมิติได้" อัลเล็น ฮิวจ์ ( Allen Hughes ) กล่าวเสริมว่า "จะเห็นว่า เหยื่อทุกคนของ แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ( Jack the Ripper ) ไม่เคยถูกมองว่าเป็นคนเลยแม้สักรายได้ เราต้องการสร้างให้พวกเขามีชีวิตเป็นผู้เป็นคนในสังคม ไม่ใช่เป็นแค่เหยื่อธรรมดา ๆ คนหนึ่ง พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกันนะ"--จบ--
-อน-