กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กรมประมง
"สัตว์น้ำ" โดยเฉพาะปลาเป็นอาหารที่คนนิยมบริโภคเนื่องจากหาได้ง่าย ราคาไม่แพง
เป็นอาหารที่ย่อยง่าย ในแง่คุณค่าทางอาหารนั้นปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีกรดอมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีไขมันที่สามารถลดปริมาณไตรกรีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้ด้วยภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมเก็บรักษาปลาเพื่อบริโภคในหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมมากคือการเก็บรักษาในรูปแบบหมักดอง ได้แก่ ปลาร้า และปลาส้ม
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันปลาร้าได้ขยายมูลค่าจากธุรกิจ
ในระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็กเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปลาร้านอกจากจะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้า OTOP ยังมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในการแปรรูปอาหารก็คือการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภครวมทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการจำหน่าย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางกรมประมงได้มีนโยบายให้ทีมนักวิจัยกรมประมงคิดค้นผลงานวิชาการใหม่ๆ รวมถึงให้พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งให้กับภาคการประมงของไทยให้สามารถแข่งขัน
ในตลาดได้ จากการสำรวจของกองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง พบว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำที่ผลิตปลาร้ายังใช้แรงงานจากคนเป็นหลักทำให้เสียเวลามาก กองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำจึงพัฒนาเครื่องขอดเกล็ดปลาเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและสร้างคุณภาพตัวสินค้าสัตว์น้ำให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
นายสยาม เสริมทรัพย์ วิศวกรเครื่องกลชำนาญการ กองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำกล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้วิจัยและพัฒนาต่อยอดเครื่องขอดเกล็ดปลาว่า เครื่องขอดเกล็ดปลารุ่นนี้เป็นรุ่นที่มีการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 2547 โดยกรมประมง ใช้สำหรับปลาสดและเป็นปลาขนาดตั้งแต่ 2 - 4 ตัว / กิโลกรัม อย่างเช่น ปลานิล ปลาจีน ขอดเกล็ดปลาได้ครั้งละ 20 - 25 กิโลกรัม ภายใน 5 นาที ปลาที่ขอดแล้วเนื้อปลาไม่ช้ำ แต่เครื่องรุ่นเก่านี้ไม่สามารถขอดเกล็ดปลาที่มีขนาดเล็กในครั้งละมากๆ ได้
ทางกรมประมงจึงได้มีการพัฒนาเครื่องขอดเกล็ดปลารุ่นนี้ได้พัฒนามาจากเครื่องที่ประดิษฐ์โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกษตรศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเครื่องรุ่นใหม่ที่กรมประมงพัฒนาขึ้นมานี้เป็นเครื่องที่สามารถขอดเกล็ดปลาตัวขนาดเล็กและใช้วัสดุสัมผัสปลาที่ปลอดสนิม ถอดล้างทำความสะอาดง่าย ขอดเกล็ดปลาสดและปลาดองเกลือได้ อีกทั้งยังสามารถเคล้าปลากับส่วนผสม สำหรับทำปลาร้าโดยเครื่องขอดเกล็ดปลานี้เหมาะกับการขอดเกล็ดปลาที่นำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทหมัก ดอง และตาก เช่น ปลาร้าปลาสร้อย ปลาร้าปลากระดี่ ปลาส้มปลาตะเพียน
ปลาสลิดแดดเดียว เนื่องจากปลาที่ได้เนื้อปลาจะน่วม ในด้านการผลิตเครื่องรุ่นใหม่นี้ สามารถขอดเกล็ดปลาได้ถึง 25 - 30 กิโลกรัมในเวลา 5 นาที ซึ่งจากการทดลองพบว่าเครื่องนี้สามารถขอดเกล็ดปลาได้ถึง 90 - 95 % เลยทีเดียว
สำหรับอุปกรณ์และการทำงานของเครื่องถังขอดเกล็ดปลา เพลาขอดเกล็ด และโครงเครื่องจะใช้ สแตนเลสเพื่อป้องกันการเกิดสนิมมอเตอร์ขนาด 2 แรงม้า ทดความเร็วรอบถังขอดเกล็ดปลาหมุนที่ 36 รอบ / นาที ภายในถังประกอบด้วยเพลาขอดเกล็ดปลาจำนวน 3 เพลา โดยเพลาตัวกลางเป็นเพลาหลักสำหรับหมุนถังขอดเกล็ดปลา เพลาด้านข้างอีก 2 เพลาหมุนอิสระเพลาทั้ง 3 เชื่อมติดด้วยเกลียวปล่อยสำหรับเป็นแปรงขอดเกล็ดปลา ด้านวิธีการใช้เครื่องรุ่นนี้ก็ไม่ซับซ้อนเพียงแค่นำตัวปลาใส่ลงไปในตัวเครื่องเติมน้ำเปล่าลงไปให้พอท่วมตัวปลา จากนั้นเปิดสวิตซ์ให้เครื่องทำงาน ประมาณ 5 นาที ก็สามารถนำปลาออกจากเครื่องได้นำไปล้างน้ำให้สะอาดและแปรรูปต่อได้ คุณสมบัติพิเศษเช่นนี้จึงเหมาะกับการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นอย่างมาก เพราะแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจสัตว์น้ำเพราะนอกจากจะช่วยลดลดต้นทุนการผลิตแล้วยังช่วยประหยัดเวลาได้อีกด้วย
ผลงานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นอีกหนึ่ง ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมของกรมประมงที่เหมาะกับกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามถึงแม้เครื่องขอดเกล็ดปลารุ่นนี้จะผลิตออกมาเพื่อช่วยลดกำลังคนแต่ทางกรมประมงก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาพร้อมเตรียมต่อยอดพัฒนาเครื่องรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิศวอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำกรมประมง โทร. 0-2940-6130-45 ต่อ 4210, 4211