กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
จากการประชุมหัวข้อ "วิสัยทัศน์ของวิชาชีพเภสัชกรต่อ WTO และ GATS" ของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในงาน "เมดิเทค เอเชีย และ เด็นทอล เอเชีย 2000" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ได้รับความสนใจจากเภสัชกรจำนวนมากในเรื่องการเตรียมตัวรับการเปิดเสรีภาคบริการด้านการแพทย์เพราะมีแนวโน้มว่าไทยอาจจะต้องเปิดเสรีด้านนี้เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสเรื่องนี้ของประเทศสมาชิกใน WTO ที่ไทยก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้แพทย์ และ บุคลากรด้านการแพทย์อย่างเภสัชกรจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคนี้หลั่งไหลเข้ามาในไทย และในอนาคตจะทำให้มีการแย่งงานภายในประเทศ
รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากไทยผูกพันการเปิดเสรีภาคบริการด้านการแพทย์จะมีผลให้ผู้อยู่ในวิชาชีพบริการด้านนี้ แพทย์ เภสัชกร จากประเทศอื่นจะสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพในไทยได้หากผ่านการทดสอบและได้รับใบอนุญาต ดังนั้น ไทยจึงต้องวางแผนการพัฒนาความรู้ ความสามารถ บุคลากรในวิชาชีพนี้โดยเร็ว เพื่อใช้เกณฑ์ในการทดสอบที่มีมาตรฐานสูงสุดได้ "เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านขายยา โรงพยาบาล เลือกใช้ผู้ประกอบวิชาชีพคนไทยมากกว่าต่างประเทศ" นายกเภสัชกรรมสมาคมฯ กล่าว
สำหรับแนวทางการพัฒนาบุคลากรนั้น รศ.ดร.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ต้องพัฒนาคุณภาพทั้งผู้ที่กำลังจะจบการศึกษา และ ผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพอยู่ในวิชาชีพแล้ว โดยต่อไปผู้ที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะต้องต่อใบประกอบวิชาชีพตามระยะเวลาที่กำหนด ต้องมีการศึกษาต่อเนื่องโดยการเข้าคอร์สอบรม หรืออื่น ๆ ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาระบบขึ้นมารองรับข้อบังคับใหม่นี้ของสภาเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เภสัชกรรมสมาคมฯ ได้พัฒนาหลักสูตร "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางเภสัชกรรม" (Fellow of College of Pharmacies) ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเปิดรับทดสอบความรู้เบื้องต้นว่าสามารถฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญได้หรือไม่ โดยหากผ่านการทดสอบจะมีการฝึกอบรมอย่างน้อย 1 ปี--จบ--