กระดาษ ดับเบิ้ล เอ จับมือจุฬาฯ และม.ศิลปากร จัดโครงการ “ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง” ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 200,000 บาท

ข่าวทั่วไป Thursday June 14, 2001 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--แอ๊ดวานซ์ อะโกร
กระดาษ ดับเบิ้ล เอ จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดโครงการ “ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง” ปลุกพลังจินตนาการเยาวชนไทย ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 200,000 บาท
บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษดับเบิ้ล เอ (Double A) กระดาษสำนักงานคุณภาพ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการประกวดนิทานพร้อมภาพประกอบ "ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง" สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกระดับ ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 200,000 บาท หมดเขตส่งผลงาน 31 สิงหาคมศกนี้
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "แอ๊ดวานซ์ อะโกร ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนไทย อันเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอ่านและการเขียน ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น โครงการ ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง จึงเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ในทางที่ดีงามเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านและการเขียนของเยาวชนไทย ผ่านทาง"นิทาน" บนกระดาษ ซึ่งเป็นสื่ออันทรงคุณค่าในการถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และสิ่งดีงามในการจรรโลงสังคม"
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นนิทานพร้อมภาพประกอบ โดยไม่จำกัดเทคนิคการใช้สี ความยาว 5-15 หน้า บนกระดาษ ดับเบิ้ล เอ ทั้งนี้ เนื้อเรื่องของนิทานจะต้องกระตุ้นจินตนาการมีความคิดสร้างสรรค์ สอดแทรกสาระ ให้คติสอนใจ สนุกสนานเพลิดเพลินในการอ่าน และจะต้องไม่ลอกเลียนแนวคิดหรือดัดแปลงโครงเรื่องจากที่อื่นใด
ระดับของผลงานที่ประกวด แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยในแต่ละระดับนั้น ผลงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท รางวัลที่ 2 20,000 บาท รางวัลที่ 3 10,000 บาท และรางวัลชมเชยประเภทความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น การใช้ภาษาดีเด่น และภาพประกอบดีเด่น รางวัลละ 5,000 บาทนอกจากนี้ สถาบันการศึกษาในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่มีนักเรียนส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัล จะได้รับ ใบประกาศเกียรติคุณ และผลิตภัณฑ์กระดาษดับเบิ้ล เอ จำนวน100 รีม เพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นเวลา 1 ปี
คณะกรรมการตัดสินแบ่งเป็นด้านเนื้อหาและด้านภาพประกอบ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิทานเด็ก พัฒนาการเด็ก การใช้ภาษา นักเขียน นักวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ศิลปิน นักเขียนการ์ตูนสำหรับเด็ก และสื่อมวลชน โดยหลักเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจาก ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเนื้อหา การเล่าเรื่องราว การใช้ภาษา ความสนุกสนานในการอ่าน แนวคิดและคติสอนใจ ตลอดจนความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อเรื่องด้วยภาพ และความสวยงามของภาพประกอบ
ผลงานแต่ละชิ้นสามารถมีผู้ส่งคนเดียวที่จัดทำทั้งเนื้อเรื่องและภาพประกอบ หรือมีผู้ส่งเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน โดยผู้ที่ส่งผลงานร่วมกันจะต้องอยู่ในระดับการศึกษาหรือระดับการประกวดเดียวกันเท่านั้น ผลงานทุกผลงานจะต้องมีการกำหนดชื่อเรื่อง รวมทั้ง แนวคิดและคติสอนใจของเรื่อง แล้วส่งมาที่ ตู้ ป.ณ. 1432 ปณฝ. นานา กรุงเทพฯ 10112 หมดเขตรับผลงาน 31 สิงหาคมศกนี้
"ผลงานทุกเรื่องมีสิทธิ์ได้รับการตีพิมพ์และรวมเล่มเพื่อนำไปเผยแพร่และแจกจ่ายให้กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศ โดยจะมีการนำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงในที่สาธารณะและเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและเด็กที่ด้อยโอกาสได้มาอ่านด้วย" นายชาญวิทย์กล่าว
ผู้สนใจส่งนิทานเข้าประกวด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 627-3501-6 หรือ โทรสาร 627-3510 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านและการเขียนของเยาวชนไทยมาโดยตลอด นอกเหนือจากโครงการ “ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง” แล้ว บริษัทฯ ยังเคยจัดโครงการ “รักการอ่าน” ที่ได้จัดร่วมกับบริษัทผู้ผลิตสมุดและหนังสือ เพื่อมอบคูปองส่วนลดให้กับเด็กนักเรียนเพื่อนำไปซื้อหนังสือที่มีคุณค่าในราคาพิเศษ
แนวคิดของโครงการ:
ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไป กระดาษก็ยังคงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทรงคุณค่าต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์เขียน เพราะมนุษย์ยังคงต้อง “อ่านออก เขียนได้” เพื่อรับและถ่ายทอดความรู้สร้างเสริมปัญญา ความคิด ติดตามข่าวสารข้อมูล รวมทั้งการถ่ายทอดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ผ่านลงบนกระดาษอยู่ตลอดเวลา ตัวอักษรและภาพต่างๆ ได้ถูกบันทึกไว้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อถ่ายทอดสิ่งดีงาม เพื่อจรรโลงจิตใจและ สร้างสรรค์สังคมให้งดงาม ดังนั้น การจัดโครงการ “ดับเบิ้ล เอ เล่านิทานให้น้องฟัง” จึงเป็นโครงการที่สะท้อนความสำคัญของการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการลงบนกระดาษ ซึ่งถือเป็นสื่อที่ทรงคุณค่าอมตะ ไม่ว่าโลกจะมีวิวัฒนาการก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม
วัตถุประสงค์ของโครงการ:
1. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ในทางที่ดีงามเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
2. เพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านและการเขียนของเยาวชนไทย
3. เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของ “กระดาษ” สื่ออันทรงคุณค่า ในการถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และสิ่งดีงามในการจรรโลงสังคม
ระดับของผลงานที่เข้าประกวด:
1. ระดับประถมศึกษา หรือ อายุ 6-12 ปี
2. ระดับมัธยมศึกษา หรือ อายุ 13 — 18 ปี
3. ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป หรือ อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป
รูปแบบการดำเนินงาน:
กระดาษ ดับเบิ้ล เอ โดย บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญเพื่อนๆ ทั่วไทยจรดปลายดินสอหรือปากกาเรียงร้อยถ้อยคำ แต่งเรื่องราวที่สนุกสนาน ตื่นเต้น น่าอ่าน และให้คติสอนใจ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็กน้อยและเพื่อนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมทั่วประเทศ พร้อมวาดภาพระบายสีหรือลายเส้นที่สวยงามประกอบเรื่องราว ลงบนกระดาษ ดับเบิ้ล เอ จำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หน้า แต่ไม่เกิน 15 หน้า พร้อมกำหนดชื่อเรื่องและแนวคิดของเรื่องนั้น โดยส่งมาที่ตู้ ป.ณ. 1432 ปณฝ. นานา กรุงเทพฯ 10112
เรื่องทุกเรื่องที่ได้รับการคัดเลือกจะนำมาตีพิมพ์และรวมเล่มเพื่อส่งไปให้แก่เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสตาม โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยก่อนที่จะนำไปมอบยังโรงเรียนต่างๆ นั้น จะมีการนำมาจัดแสดงในที่สาธารณะและเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและเด็กที่ด้อยโอกาสในเขตกรุงเทพฯ ได้มาอ่านก่อนด้วย
“กระดาษ ดับเบิ้ล เอ ขอร่วมถ่ายทอดสิ่งดีงามและคุณค่าของความเป็นคน เพื่อจรรโลงจิตใจ และ สร้างสรรค์สังคมไทยให้งดงามสืบไป”
ผู้รับผิดชอบโครงการ:
บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตเยื่อและกระดาษคุณภาพที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย
ที่อยู่: 122 ถ.สาทรเหนือ บางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร: 267-7164 โทรสาร: 267-7127
ผู้ประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการ:
บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
ที่อยู่: 598 อาคารคิวเฮ้าส์เพลินจิต ชั้น 14 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร: 627-3501-6 โทรสาร: 627-3510
ระยะเวลาดำเนินการ: มิถุนายน — พฤศจิกายน 2544
- มิถุนายน จัดส่งโปสเตอร์และใบสมัครให้กับโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศ เปิดตัวโครงการฯ สู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ
- มิถุนายน-สิงหาคม: เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนและสื่อต่างๆ พร้อมเชิญชวนให้ร่วมส่งผลงาน
- 31 สิงหาคม: ปิดรับผลงาน
- กันยายน: รวบรวมผลงาน / พิจารณาตัดสิน / ติดต่อและแจ้งผลให้กับผู้ส่งผลงาน
- ตุลาคม จัดพิมพ์ผลงาน
- พฤศจิกายน จัดกิจกรรมแสดงผลงานมอบรางวัล
กติกาการประกวด:
เขียนหรือพิมพ์เนื้อเรื่องของนิทาน พร้อมภาพประกอบ ลงบนกระดาษดับเบิ้ล เอ ซึ่งเป็นขนาด A4 จำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หน้า แต่ไม่เกิน 15 หน้า (ใช้กระดาษแผ่นละ 1 หน้าเท่านั้น) โดยผู้ส่งผลงานจะเป็นผู้แบ่งเนื้อเรื่องและภาพประกอบตามฉากที่ต้องการเอง ส่วนของเนื้อเรื่องจะต้องไม่เขียนหรือพิมพ์ทับลงบนส่วนของภาพประกอบ แต่สามารถอยู่ภายในหน้าเดียวกันได้ เนื้อเรื่องของนิทานจะต้องกระตุ้นจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ สอดแทรกสาระ ให้คติสอนใจ และความสนุกสนานเพลิดเพลินในการอ่าน ไม่จำกัดเทคนิคการใช้สีของภาพประกอบเรื่อง โดยผู้ผลิตชิ้นงานต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะของกระดาษเอง
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องไม่ลอกเลียนแนวคิดหรือดัดแปลงโครงเรื่องจากที่อื่นใด และยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบใดๆ รวมทั้งการเข้าประกวดที่ใดมาก่อน หากผลงานชิ้นใดผิดข้อกำหนดข้างต้น จะไม่ได้รับการพิจารณา
ผลงานแต่ละชิ้นสามารถมีผู้ส่งคนเดียวที่จัดทำทั้งเนื้อเรื่องและภาพประกอบ หรือมีผู้ส่งเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน โดยผู้ที่ส่งผลงานร่วมกันจะต้องอยู่ในระดับการศึกษาหรือกลุ่ม การประกวดเดียวกันเท่านั้น
ผลงานแต่ละชิ้นจะต้องระบุ “ชื่อเรื่อง” และ “แนวคิดของเรื่อง” รวมทั้ง ชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ที่ติดต่อได้สะดวก หมายเลขโทรศัพท์ สถาบันการศึกษา ชั้นปีที่ที่กำลังศึกษาอยู่ของเจ้าของ ผลงาน (ถ้าส่งผลงานร่วมกันเป็นทีม ให้ระบุทุกคน) โดยเขียนหรือพิมพ์ลงบนกระดาษที่แยกจากผลงาน ระบุเลขที่หน้าให้ชัดเจนที่ด้านหลังของกระดาษแต่ละแผ่น
ผู้ส่งผลงานมีสิทธิ์ส่งผลงานได้ไม่จำกัดจำนวนเรื่อง แต่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุดเพียงรางวัลเดียวผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) และมีโอกาสได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัทฯ เช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงเรื่องและภาพเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะแก่การพิมพ์ สำหรับผลงานทุกผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่นั้น บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) จะถือลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่แจกจ่ายได้อย่าง ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่เผยแพร่ผลงานในครั้งแรก
สำหรับผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลหรือไม่ได้รับการตีพิมพ์ เจ้าของผลงานสามารถขอรับผลงานคืนได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หลังจากที่มีการประกาศผลการตัดสินแล้ว ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงผลงานที่ส่งมาเข้ามาประกวดและเกิดการสูญหายระหว่างการจัดส่ง การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด
รางวัลการประกวด (ในแต่ละประเภท):
รางวัลที่ 1 ทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลที่ 2 ทุนการศึกษา 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลที่ 3 ทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชยประเภท ความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น ทุนการศึกษา 5,000 บาท
พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชยประเภท การใช้ภาษาดีเด่น ทุนการศึกษา 5,000 บาท
พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชยประเภท ภาพประกอบดีเด่น ทุนการศึกษา 5,000 บาท
พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลสำหรับสถาบันการศึกษาที่ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัล (ระดับประถมและระดับมัธยม):
ใบประกาศเกียรติคุณ และผลิตภัณฑ์กระดาษดับเบิ้ล เอ จำนวน 100 รีม เพื่อใช้ในกิจกรรม การเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นเวลา 1 ปี
ที่ปรึกษาโครงการ:
ดร. พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
อาจารย์ พุฒ วีระประเสริฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร. กาญจนา นาคสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประธานคณะทำงานเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยทางสื่อมวลชน
ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน
การตัดสิน:
การตัดสินผลงานจะแบ่งเป็น 2 รอบได้แก่
รอบคัดเลือก โดยจะทำการคัดเลือกผลงานให้เหลือประเภทละ 20 ผลงาน
รอบตัดสิน
คณะกรรมการตัดสิน:
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเล่าเรื่องราวด้วยภาพ การใช้ภาษา นักพัฒนาการเด็ก นักเขียน ศิลปิน สื่อมวลชน ได้แก่
คณะกรรมการพิจารณาตัดสินด้านเนื้อหา
ศาสตราจารย์ ดร. กาญจนา นาคสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ. ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน
ผศ. ดร. พรทิพย์ พุกผาสุข หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ. พจมาน พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการศึกษา สำนักนิเทศก์ฯ สปช. และนักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก
อ. ดารัด มุกดาอุดม ศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ
6. คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการ สถาบันสวัสดิการและการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็ก
7. คุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
8. คุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย
คณะกรรมการพิจารณาตัดสินด้านการวาดภาพ
1. ผศ. วิโชค มุกดามณี มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. อ. ปัญญา วิจินธนสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
3. อ. จุลศักดิ์ อมรเวช นักเขียนการ์ตูนเด็ก
4. คุณชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
5. ดร. ผดุง พรมมูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกสถาบันสถาบันราชภัฏสวนดุสิต
หลักเกณฑ์การตัดสิน (เบื้องต้น):
คณะกรรมการจะพิจารณาจาก
เนื้อหา
ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเนื้อหา
การเล่าเรื่องราว
การใช้ภาษา
ความสนุกสนาน
แนวคิด และคติสอนใจ
ภาพประกอบ
การถ่ายทอดเนื้อเรื่องด้วยภาพ
ความสวยงามของภาพประกอบ
การมอบรางวัล:
เมื่อได้ผลงานที่ชนะการประกวดแล้ว ทางคณะผู้จัดงานจะรวบรวมผลงานที่ได้รับรางวัลและงานที่ได้รับการคัดเลือกและมีความน่าสนใจบางเรื่องจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ทางคณะผู้จัดได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ชนะ ในงานดังกล่าวนี้จะจัดแสดงนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัล และ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่รวบรวมผลงานดังกล่าวเพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนใน โครงการพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,000 โรงเรียน คณะผู้จัด จะเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ได้เข้ามาร่วมชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น หนังสือรวบรวมผลงานดังกล่าวจะส่งมอบให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โดยผู้บริหารจาก สปช. และ หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐเป็นผู้รับมอบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปัณฑ์ชนิต โรจน์อมรสวัสดิ์ -- ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน โทร. 627-3501-6 โทรสาร. 627-3510--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ