รับสมัครผู้ว่าฯกทม.วันแรกคึกคักมีผู้สมัครแล้ว 15 คน

ข่าวทั่วไป Thursday June 8, 2000 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กทม.
เวลา 10.00 น. วันนี้ (7 มิ.ย. 43) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกทม.ว่า การสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันแรกนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดระบบต่างๆ ค่อนข้างจะรัดกุม เช่น การกำหนดให้ผู้สมัครมีผู้ติดตามเข้าไปในศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งไม่เกิน 3 คน และให้ผู้ที่มาสนับสนุนหรือกองเชียร์อยู่ภายนอก ทั้งนี้มีผู้สมัครจำนวน 14 คน มาถึงศูนย์ฯ ก่อนเวลา 08.30 น. จึงถือว่ามาพร้อมกัน ซึ่งภายหลังจากตรวจสอบเอกสารการสมัครของผู้สมัครแล้ว เมื่อถึงเวลา 08.30 น. จึงเข้าสู่กระบวนการจับสลาก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จับเพื่อจัดลำดับการจับสลากก่อนหลัง ครั้งที่ 2 จับได้หมายเลขใดให้ถือเป็นลำดับการยื่นเอกสารการสมัครตามลำดับ ยังไม่ใช่หมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อที่จะใช้ในการหาเสียง เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า กรุงเทพมหานครจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และจะแจ้งผลการสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครฯ ทราบภายใน 7 วัน หลังจากวันรับสมัคร ทั้งนี้หากผู้หนึ่งผู้ใดขาดคุณสมบัติไปก็จะต้องเลื่อนหมายเลขลำดับถัดไป อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบในขั้นต้นเห็นว่าผู้สมัครทุกคนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
สำหรับลำดับการสมัครของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (7 มิ.ย. 43) มีดังนี้
1. นายมณฑล ชาติสุวรรณ
2. พ.อ.วินัย สมพงษ์
3. นางปวีณา หงสกุล
4. ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
5. นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
6. น.ส.จิตติพร อภิบาลภูวนารถ
7. นายสมัคร สุนทรเวช
8. พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว
9. นายดำริห์ รินวงษ์
10. พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร
11. นายวรัญชัย โชคชนะ
12. นายชัยพร ประเสริฐเวศยากร
13. นายธวัชชัย สัจจกุล
14. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
15. นายกิตติศักดิ์ ถิรวิศิษฎ์
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สำหรับบัญชีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายให้ปลัดกรุงเทพมหานคร ภายใน 90 วัน หลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง และกรุงเทพมหานครจะต้องเก็บบัญชีนั้นไว้จนกว่าจะมีการร้องขอหรือฟ้องร้องจากผู้สมัครคนอื่นให้เปิดเผยจึงจะสามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ดีจากการที่กทม. ได้มีการประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีความเห็นตรงกันว่าเพื่อความชัดเจน โปร่งใส น่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนทราบโดยไม่ต้องรอให้มีการร้องขอ ซึ่งผู้สมัครทุกท่านต่างก็เต็มใจที่จะเปิดเผยบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของตน ทั้งนี้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งฯ ได้กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไว้ไม่เกิน 21 ล้านบาท โดยจะคิดตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้คือ ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 43 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ปลัดกรุงเทพมหานครได้ขอร้องให้ผู้สมัครทุกคนทำตามกฎเกณฑ์ในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้สมัครคนใดมีข้อสงสัยว่าจะขัดกับกฎหมายหรือไม่ สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โทร. 226-6740-9 จะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถาม เพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะดำเนินการเลือกตั้งด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยนบริสุทธิ์ ยุติธรรมเป็นธรรมต่อผู้สมัครทุกคน โดยจะอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านสถานที่เพื่อการปราศรัยหาเสียงและเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ