กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กทม.
น.พ.กฤษณ์ หิรัญรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เชื้อแอนแทรกซ์มี ๒ ประเภท คือประเภทที่ติดต่อทางสัมผัสและเกิดแผลพุพองที่ผิวหนัง ซึ่งเมื่อ ๒ ปีก่อนพบผู้ป่วยกรณีนี้ที่เขตสวนหลวง ๑๖ ราย ประเภทที่ ๒ คือเชื้อที่เพาะเป็นสปอร์เข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีสูดดมเชื้อจะเข้าทำลายระบบทางเดินหายใจ เชื้อลักษณะนี้เป็นอาวุธเชื้อโรคที่เป็นตื่นกลัวในปัจจุบันและสปอร์ของแอนแทรกซ์จะอยู่ในดินได้นานถึงกว่า ๒๐ ปี ดังนั้นขอให้ประชาชนสังเกตจดหมายหรือห่อพัสดุก่อนเปิด หากผิดสังเกตหรือต้องสงสัยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมฝุ่นผง และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือถ้าสัมผัสโดนให้รีบล้างด้วยน้ำไหลและสบู่ให้สะอาด อย่างไรก็ตามเชื้อแอนแทรกซ์ที่เป็นสปอร์ มีอันตรายรุนแรงน่ากลัวกว่าทางผิวหนังที่หายได้ใน ๒ สัปดาห์ แต่ไม่น่ากลัว เพราะประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการเพาะสปอร์จากเชื้อแอนแทรกซ์ ทั้งนี้ สำนักอนามัยกำลังเฝ้าระวังและในวันที่ ๒ พฤศจิกายนนี้จะจัดสัมมนาให้ความรู้กับแพทย์พยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุขให้เท่าทันอาวุธเชื้อโรค ซึ่งได้แก่ โรคกาฬโรค แอนแทรกซ์ และไข้ทรพิษที่โรงแรมนารายณ์--จบ--
-อน-