เปิดเทอมใหม่นี้คาดว่าประชาชนจะมาใช้บริการโรงรับจำนำกทม. เดือนละประมาณ 300 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2001 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
นายชาญ ปฎิมาภรณ์ชัย ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาล กทม. เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ มักจะมีประชาชนมาใช้บริการของสถานธนานุบาลกทม. (สธก.) จำนวนมาก โดยทรัพย์ที่นำมาจำนำเป็นประเภททอง เงิน นาก อัญมณี ร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือเป็นทรัพย์ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา และของเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในการนี้ สธก.ได้เตรียมเงินหมุนเวียนไว้เดือนละ 300 ล้านบาทซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อความต้องการของผู้มาใช้บริการ ทั้งนี้โดยเฉลี่ยเมื่อปี 2543 มีผู้มาจำนำทรัพย์ประมาณเดือนละ 250 ล้านบาท ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านบาท สำหรับเหตุผลที่ประชาชนมาใช้บริการจำนำทรัพย์เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากสถานธนานุบาลกทม. ได้ลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอีก 0.20 บาท/เดือน คือ จำนำทรัพย์วงเงินไม่เกิน 3,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.75 บาท/เดือน (เดิมร้อยละ 0.95 บาท/เดือน) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ถ้าหากจำนำทรัพย์ตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป จะคิดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย กล่าวคือ เงิน 2,000 บาทแรก คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/เดือน ส่วนที่เกิน 2,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาท/เดือน
สำหรับทรัพย์ที่หลุดจำนำซึ่งเป็นสิทธิของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร จะทำการประมูลจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปจนแล้วเสร็จ ดังนี้
ประเภทของเบ็ดเตล็ด อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นตา นาฬิกา ฯลฯ เปิดจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำ 3 แห่ง คือ ทุกวันสิ้นเดือน จำหน่ายที่อาคารสำนักสวัสดิการสังคม กทม.2, วันเสาร์ที่ 1 ของเดือน จำหน่ายที่ตลาดนัดธนบุรี (สนามหลวง 2) คลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา และวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน จำหน่ายที่ตลาดนัดจตุจักร 2 (มีนบุรี)
ประเภทเครื่องประดับ ได้แก่ เพชร ทอง เงิน นาก รูปพรรณ จะจำหน่ายในวันเสาร์ที่ 2, 3, 4 ของเดือนที่อาคารสำนักสวัสดิการสังคม กทม. 2 ยกเว้นวันเสาร์ที่ตรงกับวันนักขัตฤกษ์
นายชาญ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการของสถานธนานุบาล กทม. ประมาณ 300,000 ราย มีวงเงินจำนำ 3,072 ล้านบาท ในปีนี้ คาดว่าจะมีวงเงินจำนำเพิ่มเป็น 3,400 ล้านบาท สำหรับรายได้ของ สธก. ปีที่แล้วมีทรัพย์หลุดจำนำคิดเป็นมูลค่า 150 ล้านบาท เมื่อนำมาเปิดประมูลจำหน่าย ได้ผลกำไรประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งผลกำไรในระดับนี้ ไม่สามารถขยายสาขาบริการจากปัจจุบัน 23 แห่งไปให้ครบทั้ง 50 เขตได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว ต้องใช้เงินทุนถึง 1,500-2,000 ล้านบาท คือเป็นเงินหมุนเวียนสาขาละ 50 ล้านบาท และงบฯก่อสร้างปรับปรุงสถานที่ทำการอีกสาขาละ 15 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ นายชนินทร์ รุ่งแสง สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารสถานธนานุบาล กทม. โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้สามารถขยายสาขาบริการเพิ่มขึ้นนั้น ก็มีความเป็นไปได้ ตามแนวคิดของตนอาจบริหารในรูปบริษัทจำกัดซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยกทม. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อสามารถกำหนดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ ตามเจตนารมย์ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มาใช้บริการได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานตามพระราชบัญญัติควบคุมโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ