กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--เอสซีจี
การจัดงาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 โดยความร่วมมือของ เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นสัญญาณครั้งใหญ่ที่บ่งบอกว่า การบริหารจัดการน้ำภายในประเทศเป็นที่ต้องลงมือทำวันนี้ เพื่อรักษาสมดุลของการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ดีพอ ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีกับความต้องการใช้ โดยมองภาพไปถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย เรื่องสำคัญที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง คือร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธี
"ต้องทบทวนวิธีการใช้น้ำ เพราะถ้าดูจากโครงสร้างน้ำหลักตอนนี้ ชัดเจนว่าบัญชีออมทรัพย์น้ำไม่สมดุล หากเรายังบริหารแบบเดิมจะเกิดปัญหาในอนาคต และโจทย์คือจะทำอย่างไรให้เก็บกักน้ำได้มาก โดยหนึ่งในความสำเร็จคือการลุกขึ้นมาจัดการน้ำในระดับชุมชนเพื่อแก้ปัญหา และภาระจะไม่ถูกส่งมาที่ส่วนกลาง"
ดร.สุเมธ อธิบายถึงแนวคิด พร้อมสรุปแนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย เป็น 5 แนวทางที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดของชาวชุมชนต้นน้ำ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ได้แก่
1. การจัดตั้งหน่วยงานหลัก มีบทบาทคล้ายเป็นสภาพัฒน์เรื่องน้ำ โดยเป็นสำนักงานเลขาที่บริหารแบบรวมศูนย์ ทำหน้าที่วางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2.ให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกว่า 600 โครงการที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ พร้อมขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง
3.ทบทวนเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ในเขตป่าไม้ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
4.การฟื้นฟูประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและคูคลอง รวมทั้งแหล่งน้ำบาดาลให้เกิดระบบใช้และระบบเติมพร้อมกัน ไม่ปล่อยทิ้งให้เสื่อมโทรม เน้นเรื่องการบูรณะของเก่าแทนการสร้างใหม่
5. จัดให้มีระบบและเครื่องมือบริหารการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การประหยัดน้ำและการใช้น้ำซ้ำ ตัวอย่างน้ำในนาข้าวที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้แทนการปล่อยทิ้ง เป็นต้น
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามของหน่วยตัวแทนภาครัฐ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และถือเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลได้ขานรับต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 ข้อ ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลรับปากว่าจะผลักดันทุกแนวทางให้เกิดขึ้นให้ได้ พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประสบความสำเร็จมาใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติ
"ทุกคนต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด เพื่อการเชื่อมโยงร่วมกันไปสู่การแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถ ประเทศไทยต้องเตรียมการให้พร้อม ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันทุกโครงการให้เกิดขึ้นให้ได้ เราต้องแยกกิจกรรมน้ำอย่างชัดเจน นี่คือความท้าทายของทุกคน ต้องมีผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และต้องวางแผนเป็นภูมิภาค เพราะเรามีทรัพยากรที่แตกต่างกัน นั่นคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศให้เป็นรูปแบบของความเชื่อมโยง เดินหน้าประชารัฐเพื่อเจริญเติบโตไปด้วยกัน"
ปัญหาเรื่องน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัญหา ย่อมนำไปสู่แนวทางการแก้ไขและพัฒนาที่ได้ผล ไม่เพียงเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต การทำงานร่วมกันจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดไปจนถึงภาครัฐ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับสายน้ำน้อยใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นต้นทุนสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในประเทศให้ยังคงมีลมหายใจต่อไป