กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุมวิชาการ "การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ" ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2559 พร้อมบรรยายพิเศษ "การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ การพัฒนากำลังคน ความก้าวหน้าและค่าตอบแทน" ณ ศูนย์ประชุมหนองบึก สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นาแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม และนายประพัทธ์ ธรรมวงศา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ กล่าว 1,500 คน ให้การต้อนรับ (วิดีโอเล่นสดที่: https://youtu.be/G1VQo7TEaMY)
นายประพัทธ์ ธรรมวงศา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวรายงานว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายด้านสุขภาพ ให้เกิดการรับรู้และการร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน สร้างแนวคิดการปฏิบัติงานของหน่วยงานบริการปฐมภูมิ ไม่เน้นการให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่ให้เกิดการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ/ตำบล ให้เกิดการแก้ปัญหาสาธารณสุข รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดเมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองแห่งสุขภาพ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน (วิดีโอเล่นสดที่: https://youtu.be/iC_JpJSxlfs)
"สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คือ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นหน่วยยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนและกระจายอยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้นำนโยบายไปประสานกับหน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จนทำให้ผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขประสบผลสำเร็จและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี" นายประพัทธ์ ธรรมวงศา กล่าว
ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การประชุมวิชาการ การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ปี 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ การประชาพิจารณ์แนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานระบบสุขภาพแก่บุคลากรสาธารณสุข การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูประบบสุขภาพระดับอำเภอและตำบล และกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดได้อย่างเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อราชการและประชาชนต่อไป
นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในนามข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ขอต้อนรับนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้เข้าร่วมประชุมด้วยความยินดียิ่ง จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง มีลักษณะเป็นแนวยาวตามฝั่งแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 174 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 740 กิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 12 อำเภอ ประชาชน 706,584 คน มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นการผสมผสานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ 7 เผ่าชน กับ 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชนเผ่าไทยอีสาน ไทยญ้อ ไทยผู้ไท ไทยแสก ไทยโส้ ไทยข่า ไทยกระเลิง และชาวไทยเชื้อชาติจีน และเวียดนาม ซึ่งทุกชนเผ่าและเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี วิสัยทัศน์จังหวัดนครพนม คือ "เมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียนและจีนตอนใต้ – ตะวันออก" และมีคำขวัญประจำจังหวัด คือ "พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไทย เรือไฟโสภา งามตามฝั่งโขง" (วิดีโอเล่นสดที่: https://youtu.be/ThD-dlq9JYM)
"ในฐานะเจ้าบ้านผมขอแนะนำให้ท่านชม 3 ที่สุดของจังหวัดนครพนม คือ 1) ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ พระธาตุพนม และพระธาตุประจำวันเกิด 2) สวยที่สุด สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) และ 3) งามที่นสุด คือ ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง นอกจากนี้ยังมีอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ และหมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ท่านโฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เคยเข้ามาพักอาศัยเพื่อวางแผนกอบกู้เอกราชของเวียดนาม ในระหว่างปี 2467-2474" นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ กล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวอีกว่า จากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม มีศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่ง ที่สะดวก รวดเร็ว เชื่อมโยงไปยังภาคกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเวียดนาม รวมทั้งประเทศจีนตอนใต้ - ตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด จากพรมแดนไทยไปเวียดนามและจีน ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ซึ่งการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดนครพนม กำหนดใน 3 ทิศทาง ได้แก่ โลจิสติกส์และการลงทุน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และการส่งเสริมการเกษตรที่มีคุณค่าและมูลค่า