กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ปตท.
ในสัปดาห์ล่าสุด ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 49.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 48.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 45.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หลังอังกฤษลงประชามติให้ออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit อย่างพลิกความคาดหมาย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 โดยวิตกว่าผลดังกล่าวอาจนำให้ประเทศสมาชิก EU อื่นๆ ขอแยกตัวเช่นกัน อาจบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและทั่วโลก ทั้งนี้นักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนถึงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติสหรัฐ ในวันที่ 4 ก.ค.
· CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 59 ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน โดยผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลง 37,014 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 178,990 สัญญา
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 11 Rig จากสัปดาห์ก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 4 ใน 5 สัปดาห์หลังสุด มาอยู่ที่ 341 Rig ทั้งนี้ Rig ที่บริเวณ Permianซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักของ Shale Oil เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
· Energy Aspects รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 1.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แตะระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 59 ก่อนเข้าฤดูกาลปิดซ่อมโรงกลั่นอีกครั้งในช่วง ก.ย.- พ.ย. 59
· Reuters คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในเดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 32.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจาก ไนจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลิเบีย เพิ่มปริมาณการผลิต
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· สถานการณ์ในไนจีเรียยังรุนแรง อาทิ กองกำลังติดอาวุธ Niger Delta Avengers แถลงเป็นผู้บุกเข้าโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบทางตอนใต้ 5 จุดเมื่อสุดสัปดาห์ ทั้งที่ดำเนินการโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Nigerian National Petroleum Corp. (NNPC) และบริษัท Chevron
· Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 59 ลดลง 4.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 526.6 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล
· พนักงานบริษัทน้ำมันในนอร์เวย์ประกาศจะประท้วงผละงานหากการเจรจาขอเพิ่มค่าจ้างไม่บรรลุผล ภายในวันที่ 2 ก.ค. 59
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ผลจาก Brexit ยังกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าจะส่งผลในระยะสั้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) เนื่องจากความแตกตื่นของนักลงทุน ที่กังวลต่อเสถียรภาพของเงินปอนด์อังกฤษ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) พุ่งขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนในวันที่ 27 มิ.ย. 59 ที่ 96.54 จุด แต่จากนั้น DXY ลดลง มาอยู่ที่ 95.65 จุด ในวันที่ 1 ก.ค. 59 อาจช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำมันดิบ ได้ผงกหัวขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความตึงเครียดในประเทศผู้ผลิตคลี่คลาย อาทิ การเจรจาในนอร์เวย์บรรลุผลสำเร็จ และลิเบียสลายความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเป็นเจ้าของน้ำมันดิบ ที่ทำให้การส่งออกช่วงก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักไปบางส่วน โดยประธานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corp. (NOC) นาย Mustafa Sanalla แถลงว่ากลุ่มที่ตั้งตนเป็นรัฐบาลอยู่ด้านตะวันออก ยอมผนวกร่วมบริษัทน้ำมันแห่งชาติกับ NOC โดยประธานบริษัทดังกล่าว นาย Nagi el-Maghrabi จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหาร ประกอบกับจำนวน Rig ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน บ่งชี้ผู้ผลิตเริ่มกลับมาดำเนินการ หากราคาทรงตัวต่อเนื่องในระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค คาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.42-50.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47.42-50.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44.50-46.50เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินลดลง เนื่องจาก International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองLight Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย Pertamina ตั้งเป้าผลิตน้ำมันเบนซิน ในปี 59 นี้ เพิ่มขึ้น 29 % จากปีก่อน อยู่ที่ 101 ล้านบาร์เรล เนื่องจากเปิดดำเนินการหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracking (RFCC) ใหม่ ขนาด 62,000 บาร์เรลต่อวัน ณ โรงกลั่นน้ำมัน Cilicap (348,000 บาร์เรลต่อวัน) และกลับมาเปิดดำเนินการโรงกลั่นน้ำมัน Trans Pacific Petrochemical Indotama (TPPI) อย่างไรก็ตามEIA รายงานอุปสงค์ Gasoline ของสหรัฐฯ ทรงตัวในระดับสูง โดยค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 1.8 % จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน อยู่ที่ 9.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ American Automobile Association (AAA) คาดการณ์ว่าชาวอเมริกันประมาณ 43 ล้านคนจะขับรถท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ในวันชาติสหรัฐฯ วันที่ 4ก.ค.นี้ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.00-60.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลลดลงในสัปดาห์ล่าสุด โดยผู้ค้ากังวลต่อผลกระทบ จาก Brexit และอุปทานในตลาดจรเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นกลับมาดำเนินการจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับรัฐสภาอินโดนีเซียผ่านร่างการปรับแก้งบประมาณปี 59 นี้ โดยลดการอุดหนุนราคา (Subsidy) น้ำมันดีเซลลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 500 รูเปียห์/ลิตร (4 เซนต์สหรัฐฯ /ลิตร) ทังนี้ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย ตั้งเป้าผลิตน้ำมันดีเซล ในปีนี้ คงที่จากปีก่อน อยู่ที่ 125 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ 10,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 59 ลดลง 0.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล และตลาดจรในสิงคโปร์กลับมาคึกคัก วันที่ 29 มิ.ย. 59 มีการซื้อขายน้ำมันดีเซลปริมาณรวม 750,000 บาร์เรล ทำให้วันที่ 1-29 มิ.ย. 59 มีการซื้อขายปริมาณรวม 6.3 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 59 มีการซื้อขายเพียง 3.9 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.50-57.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล