ผนึกกำลังประชารัฐพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ในแปลงข้าวที่ศรีสะเกษ

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2016 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เร่งสานพลังประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยกลไกประชารัฐ พร้อมนำ "การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่" เข้ามาใช้พัฒนาข้าวแปลงใหญ่ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ วันนี้ (1 ก.ค 59) เวลา 10.30 น. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หัวหน้าทีมร่วมภาคเอกชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานคณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ โดยจุดแรกคณะได้เยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสุขสยามคูโบต้า – ผักใหม่ (ศูนย์เครือข่าย ศพก.) ซึ่งนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ และผู้จัดการแปลง คือ นายประธาน พลโลหะ เกษตรอำเภอห้วยทับทัน เป็นผู้นำเสนอภาพรวมของแปลงฯ จากนั้น นายไพทูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ฯ (ข้าว) กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ก่อนที่คณะจะลงพื้นที่เยี่ยมชมการเตรียมแปลงปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเตรียมพร้อมการปลูกข้าวในฤดูการผลิต จากนั้นในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางต่อไปยังโรงสีไฟเจียเม้ง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนปัจจัยการผลิตการตลาดและการใช้เทคโนโลยีจากผู้จัดการโรงสี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การรวมกันผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย งจะทำซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ ปัจจุบันมีจำนวนแปลงใหญ่ประชารัฐที่ได้รับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดแล้ว ทั้งหมด 512 แปลง จำนวน 31 สินค้า มีพื้นที่รวมในการบริหารจัดการร่วมกัน 1.34 ล้านไร่ เกษตรกรประมาณ85,000 ครัวเรือน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) แปลงใหญ่ประชารัฐต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง 76 แปลง (ยกเว้น กทม.) 2) แปลงใหญ่ทั่วไป 392 แปลง และ 3) แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ 44 แปลง โดยมีพื้นที่ 67,899.5 ไร่ เกษตรกร 5,118 ราย รวม 11 สินค้า ได้แก่ ข้าว 13 แปลง มันสำปะหลัง 3 แปลง อ้อยโรงงาน 4 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์4 แปลง ผัก 8 แปลง ผลไม้ 1 แปลง สมุนไพร 1 แปลง หม่อนไหม 1 แปลง กุ้งขาว 6 แปลง โคเนื้อ/โคนม 1 แปลงและปลานิล 2 แปลง "จุดเด่นของแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ คือ จะมีการกำหนดผู้จัดการแปลงภาครัฐและผู้จัดการแปลงภาคเอกชนในลักษณะการทำงานร่วมกัน โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยและพัฒนาต่างๆรวมทั้งการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาช่วยในการพัฒนา ตัวอย่างพื้นที่ดำเนินการ เช่น ข้าว ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ มีพื้นที่ 3,780 ไร่ สมาชิก 297 รายบริหารงานโดยวิสาหกิจุมชนชน (ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน) สภาพพื้นที่ทำนาอยู่ในเขตความเหมาะสมปานกลางและน้อย (S2, S3) แต่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีศักยภาพและการปลูกข้าวเป็นวิถีของเกษตรกร ปัญหาการผลิตข้าวของเกษตรกร คือ มีต้นทุนการผลิตสูง จึงได้กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันผลิตแบบแปลงใหญ่ โดยการลดต้นทุนการผลิตลง สำหรับนาดำ จาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 4,050 บาท/ไร่ (ต้นทุนจาก 11.55บาท/กก. ให้เหลือ 7.36 บาท/กก.) และเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 550 กก./ไร่ และ 6.57 บาท/กิโลกรัม สำหรับนาหยอด ลดต้นทุนการผลิตจาก 4,620 บาท/ไร่ เป็น 3,285 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 กก./ไร่ เป็น 500 กก./ไร่ (ต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมลดลงจาก 11.55 บาท เป็น 6.57 บาท)" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวนโยบายประชารัฐซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของไทยนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ การใช้ความเชี่ยวชาญในเชิงการตลาด ความเข้าใจผู้บริโภค มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งการใช้องค์ความรู้ และการจัดการเกษตรสมัยใหม่ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐ และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะมีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทางเช่น การพัฒนาคุณภาพ (Quality) มาตรฐานการผลิต (Standard) สินค้าเกษตรปลอดภัย (Safety) สามารถติดตามผลสอบย้อนกลับได้ (Traceability) กลางทาง เช่น การเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้กับสินค้าเกษตร และถึงปลายทางในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย โดยการเชื่อมโยงความต้องการของตลาด (Market) กับผลผลิตของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งในอนาคตจะมีการรวมกลุ่มทำการผลิต ด้วยการนำระบบการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อลดการพึ่งพิงฟ้าฝน ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวของ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ที่ภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดูแล มีรูปแบบกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ 1) ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากวิธีทำนาหว่าน ซึ่งทำให้ผลผลิตต่ำและคุณภาพไม่ดี เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในการดูแลหันมาใช้เครื่องจักรกลในการผลิตและใช้การปลูกโดยระบบนาดำ และนาหยอด มีการบริหารเครื่องจักรกลในรูปแบบกลุ่ม(Machine Pool) โดยการสนับสนุนจากบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด มีการก่อตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเครื่องจักรกลการเกษตร ให้การสนับสนุนความรู้ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนราคาอะไหล่ในราคาที่ถูกกว่าตลาด 2) ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยการปลูกพืชปุ๋ยสด อาทิ ปอเทือง ถั่วพร้า การไถกลบตอซัง 3) พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP และอินทรีย์ 4) พัฒนาด้านการตลาด โดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับสหกรณ์การเกษตร 5) มีการบริหารความเสี่ยงโดยการส่งเสริมอาชีพเสริมรายได้เร็ว (Cash Crop) แก่สมาชิกแปลงใหญ่ เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่ว เลี้ยงโค กระบือ ไก่พื้นเมือง และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแบบบูรณาการตามความต้องการของพื้นที่และเกษตรกรภายใต้ภารกิจของหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ คือ จะได้รับการพัฒนาด้านการบริหารจัดการในการผลิต ทั้งในประเด็นของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตให้มีความเหมาสมและทันสมัย นำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ต้นทุนการผลิตเหมาะสมสามารถแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความมั่นคงในด้านการตลาดกว่าเกษตรกรทั่วไป เพราะจะมีการเจรจาเชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต ทำให้ทราบปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะนำมาสู่การวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีการจัดซื้อผลผลิตตามคุณภาพโดยผลผลิตในแปลงใหญ่จะมีปริมาณและคุณภาพที่ดี มีความแน่นอน ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกัน ร่วมในการบริหารจัดการด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรที่มีพลังอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และเป็นกลุ่มองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ