กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ในยุคที่ "ครู" ถูกตั้งคำถามถึงความประพฤติที่เหมาะสม บทบาทที่ควรกระทำ อุดมการณ์ที่ต้องยึดถือ จนดูเหมือนว่าสังคมกำลังขาดแคลนครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ทว่าแท้จริงแล้วยังคงมีคุณครูอีกหลายคนที่รักและศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง เชื่อมั่นว่าทุกคนจะดีขึ้นได้ด้วยการศึกษา และยืนหยัดจะพาลูกศิษย์ก้าวสู่หนทางที่ดีงาม ไม่ว่าพวกเขาจะมีความแตกต่างทางฐานะ ครอบครัว ความสามารถ สติปัญญา หรือด้านใดๆ ก็ตาม
"นักเรียนของเรามีตั้งแต่เยาวชน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้สูงอายุ และนักศึกษาพิการ ซึ่งมีทั้งคนที่พลาด คนที่ขาด คนที่พยายามทำตัวเองให้พลาด และคนที่ไม่เอาอะไรเลย"
ครูบุญกิจ ผลโสดา ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.เมือง จ.ปัตตานี และผู้ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เล่าถึงลักษณะลูกศิษย์อันหลากหลายของเธอที่เข้ามาเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ก่อนเล่าต่อว่า ช่วงแรกที่เพิ่งเริ่มสอน เธอมุ่งแต่สอนความรู้ตามหลักสูตร โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของนักเรียน กระทั่งนักเรียนค่อยๆ ลดจำนวนลง จึงค้นพบว่า การสอนนักเรียนนอกระบบ ไม่สามารถใช้ความรู้ในตำราเป็นตัวตั้งแต่ต้องชี้ให้เห็นว่าเรียนแล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
"มีนักเรียนคนหนึ่ง อายุคราวแม่ เราได้เข้าไปสอนเขาในเรือนจำ แล้วได้รู้ว่าเขาต้องมาอยู่ที่นี่ เนื่องจากไปเซ็นหนังสือที่ดิน ทั้งที่ตัวเองอ่านหนังสือนั้นไม่ออก เราตกใจมาก ไม่คิดว่าความไม่รู้หนังสือจะพลิกชีวิตเขาได้ขนาดนี้ จึงชวนให้เขาเรียน เขาก็ไม่ยอมเรียน บอกว่าตัวเองแก่แล้ว ไม่รู้จะเรียนไปทำไม จนเราลองถามว่าเวลาขึ้นไปติดต่อธุระที่อำเภอ ยายสั่นไหม เขาบอกว่าเขาสั่น คือคนแก่ๆ ที่ไม่รู้หนังสือจะกลัวเจ้าหน้าที่บนอำเภอดุ จนตัวสั่น เราจึงเปลี่ยนเป็นชวนว่า อย่างนั้นมาเรียนสักหน่อย ตอนไปอำเภอจะได้ไม่สั่น ยายก็ยอมมาเรียน"
นับตั้งแต่ที่ครูบุญกิจพบว่าการไม่รู้หนังสือเปลี่ยนชีวิตคนไปสู่ทางไม่ดีได้ ทำให้เธอขออุทิศตัวเป็นครูจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะหวังว่าจะเปลี่ยนชีวิตนักเรียนไปในทางที่ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นเธอเชื่อว่าไม่ใช่เพียงตัวเองคนเดียวที่จะทำงานนี้ เธอบอกว่า
"ถ้าเราทำให้คนหนึ่งไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ก็จะมีอีก 1 แรงที่ดีขึ้นมา แล้วถ้าลูกศิษย์ของเราเก่งและมีโอกาส เขาก็จะทำให้สังคมมีคนเก่งเพิ่มอีก กลายเป็นลูกโซ่ที่ต่อกันไปเรื่อยๆ จนประเทศของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น"
ไม่ใช่แค่เด็กนอกระบบที่ต้องการการศึกษาจากครูที่เข้าใจเพื่อมาเปลี่ยนชีวิตของเขา แต่ยังมีนักเรียนในระบบโรงเรียนที่การศึกษาอย่างเดียวไม่อาจเยียวยาให้ชีวิตของเขาเดินไปในทางที่ควร
"โรงเรียนที่เราสอนอยู่ในชุมชนแออัด นักเรียนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนจะมีพ่อหรือแม่ต้องคดี เด็กจึงอยู่กับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตัวเอง มีแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ที่ครอบครัวอบอุ่น และไม่ใช้ความรุนแรง เราจึงเจอนักเรียนที่ไม่พร้อมมากมาย ทั้งไม่พร้อมเรื่องเวลามาเรียน ต้องช่วยทางบ้านทำงาน และคนที่ไม่อยากเรียน เพราะมองว่าการเป็นเด็กแว้น หรือเสพยาดูเท่กว่ามาโรงเรียน และคิดว่าชีวิตตัวเองเป็นได้แค่นี้ มีโอกาส และความสามารถเท่านี้ ถึงเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำให้นักเรียนเกือบทั้งห้องของเราไม่มีใครพร้อมจะเรียน"
คำบอกเล่าถึงนักเรียนของ ครูพิ้งค์-นีติรัฐ พึ่งเดช ครูป้ายแดงจากโครงการ Teach for Thailand ซึ่งเป็นคุณครูอีกคนที่ประสบกับความหลากหลายของนักเรียน ในสังคมเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยปัญหาทั้งความรุนแรง ยาเสพติด การพนัน จนนักเรียนของเธอแทบไม่รู้จักคำว่าความสุข และไม่เคยฝันถึงอนาคต งานในฐานะครูของเธอจึงไม่ใช่แค่คิดแผนการสอนเท่านั้น
"เราเจอนักเรียนผู้ชาย 3 คนยืนรอรถเมล์ จึงถามเขาว่าทำไมไม่ไปแท็กซี่ที่เร็วกว่า เขาก็เรียกแท็กซี่ให้เราดู ปรากฏว่าไม่มีคันไหนจอดรับนักเรียนของเรา จากนั้นเขาก็บอกให้เรายืนห่างๆ พวกเขา เพราะถ้ายืนข้างกัน จะไม่มีคันไหนจอดรับเราด้วย เราตอบเขาไปว่า ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีคันไหนรับก็ไปรถเมล์ด้วยกัน เด็กตกใจกับคำตอบนั้น นี่คือเด็กของเราที่มองตัวเองว่าการถูกสังคมปฏิเสธเป็นเรื่องปกติ"
จากเหตุการณ์นั้นทำให้ครูพิ้งค์ตั้งใจจะสอนนักเรียนของเธอด้วยคำๆ หนึ่งว่า "Prove them wrong" แปลว่า "พิสูจน์สิว่าเขาผิด" หมายถึง เด็กๆ ต้องพิสูจน์ให้คนในสังคมเห็นว่ามองพวกเขาผิดไป เพราะการที่เขารับรู้ว่าสังคมมองเขาเป็นขี้แพ้ ขี้ยา เด็กสลัม เป็นปัญหาใหญ่ที่ผลักเด็กๆ ให้เดินตามคำตัดสินนั้น ทว่าครูพิ้งค์กลับเชื่อว่า ลูกศิษย์ของเธอสามารถเรียนแล้วพาชีวิตไปในทางที่ดีกว่านี้ได้ ขอแค่พวกเขาเปลี่ยนการมองตัวเองใหม่
แต่การจะเปลี่ยนคนๆ หนึ่ง ย่อมมีปัจจัยรอบตัวมากกว่าแค่นักเรียนกับครู โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่อาจเป็นพื้นฐานชีวิตที่ดีให้เด็ก ครูพิ้งค์จึงขอทำเท่าที่จะทำได้นั่นคือ การใช้หัวใจเชื่อมั่นและเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้นักเรียน โดยหวังว่าวันหนึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
"สิ่งที่เราทำได้ในการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือ เป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่ดีของนักเรียน แม้จะเป็นแค่สภาพแวดล้อมที่ดีเดียวในชีวิตเขาก็ต้องเป็นให้ได้ โดยเรียนรู้และใส่ใจทุกคน เพราะแต่ละคนต้องการการดูแลจากครูต่างกัน ถึงแต่ละวันจะเหนื่อยมากก็ยอมเหนื่อย และต้องเชื่อว่าเขาเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อจนหมดใจ เชื่อจนคนอื่นคิดว่าบ้าหรือเปล่าที่เชื่อเด็กพวกนี้ แต่เราเชื่อว่าเขาจะออกไปจากความรุนแรง มีบ้าน มีความสุขได้ ซึ่งชีวิตของเขาจะโตมาดำมืดหรือส่องแสงคือหน้าที่ของคนเป็นครูอย่างเรา"
ความคิดและความเชื่ออันหนักแน่นของครูพิ้งค์มีแรงบันดาลใจมาจากการจุดประกายแนวคิดของ "Teach for Thailand ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" โครงการที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยคัดสรรคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ก็คือ "ครู" นั่นเอง
ณัฐรดา เลขะธนชลท์ หัวหน้าฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และผู้อำนวยการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง Teach for Thailandหรือ ครูจอย ครูผู้สร้างครูรุ่นใหม่
"จุดตั้งต้นที่ทำให้เกิด Teach for Thailand คือ ความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและพัฒนาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการจากครูทุกคน"
โครงการ Teach for Thailand คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ Teach For All ที่มีสมาชิกมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นช่องทางในการสนับสนุนและผลักดันภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมกันพัฒนาการศึกษาของไทย โดยคัดเลือกพลังจากรุ่นใหม่อย่างนิสิต นักศึกษาที่เรียนจบระดับปริญญาตรี เข้าไปเป็นคุณครูอาสาสมัครในโรงเรียน เป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างนั้นอาสาสมัครจะได้รับการอบรมเพิ่มทักษะต่างๆ และศักยภาพความเป็นผู้นำ สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน การแก้ไขปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นกับการศึกษาของประเทศไทยต่อไป
ครูจอยบอกต่อว่า ความเชื่อดังกล่าวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้ หากคุณครูตอบตัวเองได้ก่อนว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร สิ่งไหนที่ทำเพื่อตัวเอง สิ่งไหนที่ทำเพื่อคนอื่น อยากทำอะไรที่มากกว่าการหายใจและมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อรู้แล้ว ครูก็พร้อมจะเป็นครูเดินทาง...เดินทางเข้าไปในหัวใจของเด็ก เพื่อรู้จักโลกของเขา เชื่อมั่นในตัวเขา แม้วันที่เขาไม่เชื่อในตัวเอง และพร้อมจะพังทุกวันเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ เพราะขณะที่พัง เหนื่อย ท้อ ครูจะรู้ว่าตัวเองก็พบความสุขจากนักเรียนด้วยเช่นกัน
จากความตั้งใจที่จะอุทิศชีวิตเป็นครูของครุบุญกิจ ความมุ่งมั่นจะให้นักเรียนเห็นค่าในตัวเองของครูพิ้งค์ และความเชื่อว่าครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงของครูจอย พวกเธอไม่ได้เพียงกำลังทุ่มเทในฐานะครูเพื่อสร้างลูกศิษย์ให้ได้ดีเท่านั้น แต่กำลังสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นรากฐานแก่ประเทศ โดยใช้สำนึกพลเมืองของตัวเองที่งอกเงยจากจิตวิญญาณความเป็นครู และหวังว่าเมื่อเด็กๆ เติบโตมาเป็นพลเมืองแล้ว พวกเขาจะถ่ายทอดและช่วยสร้างพลเมืองรุ่นต่อไป ดังคำที่ครูจอยกล่าวว่า
"การศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนพ่อแม่ของเด็ก หรือทำให้เด็กมีความสุขได้ทุกวัน แต่ถ้าคุณครูทุกคนเชื่อมั่นมากพอว่าการศึกษาจะช่วยได้จริงๆ วันหนึ่งการศึกษาจะพาให้เด็กๆ ดีขึ้น สร้างพ่อแม่ที่เขาเคยอยากได้ให้เป็นตัวของเขาเอง..."
*จากการเสวนาเรื่อง "ครูนำการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีครู: ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อถ่ายทอดและเติมเต็มจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่เยาวชนว่าที่คุณครูจากรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งทำโครงการด้านการศึกษา ภายใต้โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา (Active Citizen) จัดโดยสงขลาฟอรั่ม และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)*